xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายผู้บริโภคจี้รัฐยุบกองทุนน้ำมันฯ ชี้หมดความจำเป็นหลังรัฐเปิดเสรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายมูลนิธิผู้บริโภคเสนอให้รัฐยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหลัง ก.พลังงานเตรียมเปิดเวทีสัมนารับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ พ.ศ.... วันที่ 1 มิ.ย. ชี้ขัดต่อ กม.รัฐธรรมนูญ เหตุไม่มีความจำเป็นแล้วด้วยรัฐปล่อยให้เป็นกลไกเสรี หวั่นล้วงกระเป๋าคนไทยไม่สิ้นสุด

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ที่ปรึกษา อนุกรรมการด้านการบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้ประกาศรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.....ผ่านเว็บไซต์ และจะมีเวทีสัมมนาที่จัดใน กทม.วันที่ 1 มิ.ย.นี้นั้นเห็นว่ารัฐควรพิจารณายกเลิก พ.ร.บ.ดังกล่าวและยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเสีย ไม่เช่นนั้นภาคประชาชนคงจะต้องมีการเคลื่อนไหวและอาจต้องยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ จากการพิจารณามีวัตถุประสงค์สำคัญที่เพิ่มเข้ามา คือ สนับสนุนการลงทุนการสำรองน้ำมัน และสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน้ำมัน ซึ่งเห็นว่าในประเด็นนี้คิดว่าไม่มีความจำเป็นเพราะรัฐเองได้กำหนดให้เอกชนเป็นผู้สำรองน้ำมันอยู่แล้ว เช่น น้ำมันดิบก็อยู่ที่ 6% ประกอบกับกิจการน้ำมันเข้าสู่กิจการเสรีแล้วจึงไม่มีความจำเป็นต้องสำรองด้วยตนเอง และหากจะสำรองทางยุทธศาสตร์ข้อเท็จจริงที่ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ....กำหนดระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) รัฐก็สามารถนำน้ำมันจากระบบนี้มาสำรองทางยุทธศาสตร์ได้ และหากจำเป็นต้องสำรองทางยุทธศาสตร์จริงก็ควรเป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณจากส่วนกลางที่ผ่านระบบการพิจารณาจากสภาฯ

“ส่วนการสนับสนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันก็เช่นกัน กรณีการสร้างคลังแอลเอ็นจีก็เป็นหน้าที่เอกชนที่ต้องลงทุนสร้าง ถ้าจะเป็นของรัฐก็ต้องผ่านงบประมาณของแผ่นดินที่ผ่านจากสภานิติบัญญัติฯ หรือรัฐสภา ไม่ใช่มาเก็บเงินจากประชาชนผ่านกองทุนน้ำมันฯ แบบนี้วิธีนี้ถือเป็นการออกกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” น.ส.รสนากล่าว

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า นโยบายรัฐเองมุ่งสู่การเปิดเสรีด้านพลังงานแล้วในส่วนของน้ำมัน และแอลพีจีก็เริ่มมีราคาสะท้อนกลไกตลาดจึงไม่เห็นมีความจำเป็นแต่อย่างใด ส่วนการดูแลเชื้อเพลิงชีวภาพก็มี พ.ร.บ.ฯ ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานที่จะนำไปดูแลได้ ซึ่งที่ผ่านมาการอุดหนุนราคาเอทานอลทำให้เกิดการบิดเบือนระยะแรกการอุดหนุนควรทำเพื่อส่งเสริมแต่ไม่ได้ปล่อยนานเกินไป

“ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ม.77 ระบุว่ากฎหมายใดที่ไม่จำเป็นก็ให้ยกเลิก ซึ่งเราคิดว่าก่อนหน้านี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็เคยท้วงติงว่ากองทุนน้ำมันฯ ไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ปรากฏว่ากระทรวงได้ร่างขึ้นมาแล้วยังทำต่อทั้งที่เวลานี้ไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ และอาจนำไปสู่การเก็บเงินที่ไม่มีสิ้นสุดแม้ว่าจะถูกกำหนดให้กองทุนควรมีเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาทก็ตาม และเงินกองทุนน้ำมันฯ ที่มีอยู่เห็นว่าสามารถคืนคลังก็ได้หรือคืนกลับมาเป็นราคาน้ำมันให้ประชาชน” นายอิฐบูรณ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น