ผู้จัดการรายวัน 360 - ปตท.ปัดฝุ่นแผนผุดโรงแรมในปั๊มน้ำมันอีกรอบ เล็งรายเดียวเป็นพันธมิตร พร้อมสยายปีกเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์เพิ่มอีกหลายแบรนด์ ล่าสุดคว้าสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ “ฮั่วเซ่งฮง” ผุดในปั๊มเสริมทัพอีกแบรนด์ เร่งปรับโมเดลเป็น Friendly Design ให้ครบ 1.5 พันแห่งใน 3 ปี
นายสุชาติ ระมาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการทบทวนถึงแผนการดำเนินงานที่จะสร้างธุรกิจโรงแรมขึ้นในปั๊มน้ำมันอีกครั้ง หลังจากที่ได้ชะลอแผนนี้ไปเมื่อปลายปี 2559 โดยตามเป้าหมายเดิมนั้นยังคงต้องการมีโรงแรมลักษณะบัดเจ็ตโฮเต็ล เปิดบริการในปั๊ม ปตท.ให้ครบแพลตฟอร์มบริการครบวงจร โดยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าปั๊มใดในถนนเส้นทางหลักที่มีความเหมาะสมที่จะทำได้บ้าง
ขณะนี้มีผู้ประกอบการโรงแรมของไทยที่สนใจโครงการดังกล่าวจำนวนมากและได้ติดต่อมายัง ปตท. รวมทั้งได้ยื่นเสนอเข้ามาแล้วประมาณ 5-6 ราย แต่บริษัทฯ จะพิจารณาคัดเลือกเพียง 1 รายเท่านั้น เพื่อให้เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ดำเนินธุรกิจโรงแรมในปั๊ม ปตท.ดังกล่าว ส่วนรูปแบบที่จะลงทุนพัฒนาธุรกิจโรงแรมนี้ยังไม่มีการสรุปชัดเจนว่าจะเป็นโมเดลแบบใด ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ หรือรูปแบบอื่นๆ
รายละเอียดเบื้องต้นของการทำโรงแรมนี้ต้องพิจารณาเลือกปั๊มที่อยู่บริเวณเส้นทางที่ผ่านการเดินทางหลักๆ ซึ่งคงไม่สามารถทำได้ทุกปั๊ม คาดว่าจะใช้พื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ราคาห้องพักเฉลี่ย 700 บาทต่อคืน แต่ไม่เกิน 1 พันบาท โดย ปตท.ต้องการมีโรงแรมไว้บริการเพื่อเพิ่มความหลากหลาย แต่ไม่ได้ต้องการให้เป็นธุรกิจหลักในปั๊มแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ที่ ปตท.ประกาศโครงการนี้พบว่ามีผู้ประกอบการโรงแรมรายใหญ่หลายรายให้ความสนใจ และยื่นข้อเสนอโครงการมาให้ ปตท. แต่สุดท้าย ปตท.ได้ชะลอโครงการนี้ออกไปก่อนเมื่อปลายปีที่แล้ว
นอกจากการขยายธุรกิจใหม่ๆ ในปั๊ม ปตท.แล้ว ยังจะหาพันธมิตรในส่วนของร้านค้า เช่น ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ร้านขายของต่างๆ เข้ามาเปิดบริการในปั๊ม ปตท. ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอีและกลุ่มแบรนด์ของคนไทยเป็นหลัก เพื่อสร้างศักยภาพให้ธุรกิจของคู่ค้าด้วย โดยที่ผ่านมามีพันธมิตรหลายรายที่ขยายธุรกิจควบคู่ไปกับ ปตท.จำนวนมากและประสบความสำเร็จ เช่น แบล็คแคนยอน, สกายลาร์ค เป็นต้น และยังมีที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพิ่มอีก 2-3 แบรนด์ซึ่งขณะนี้มีแบรนด์ร้านอาหารไทยและอาหารประเภทจานด่วนสนใจและเข้ามาติดต่อหลายรายแล้ว
ในส่วนของแบรนด์ร้านค้าปลีกต่างๆ ที่เป็นของ ปตท. ทั้งการพัฒนาแบรนด์เอง หรือไลเซนส์แบรนด์ที่ซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาเปิดบริการก็จะมีการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ร้านที่เป็นของ ปตท.เอง เช่น ร้านชานมไข่มุก, ร้านคาเฟ่อะเมซอน หรือร้านที่เป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ เช่น ร้านแด๊ดดี้โด, ร้านเท็กซัสชิกเก้นซึ่งเพิ่งซื้อสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์มาทำตลาดในปี 2560 วางแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มอีกให้ครบ 20 สาขา จากปัจจุบันที่มีสาขาเปิดบริการรวมแล้ว 11 สาขา โดยแต่ละสาขาต้องใช้งบลงทุนประมาณ 6-7 ล้านบาท
ล่าสุด ปตท.ได้ซื้อสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์แบรนด์ “ฮั่วเซ่งฮง” ซึ่งเป็นร้านอาหาร-ติ่มซำจีน เพื่อเปิดสาขาในปั๊มน้ำมัน ปตท. เบื้องต้นได้เซ็นสัญญาทางธุรกิจกับพาร์ตเนอร์เป็นระยะเวลานาน 10 ปี ในช่วงที่ผ่านมาได้เริ่มเปิดร้านไปแล้วประมาณ 20 สาขา โดยตั้งเป้าหมายเปิดให้ครบ 200 สาขาภายในระยะเวลา 5 ปีจากนี้ด้วย
นายสุชาติกล่าวต่อด้วยว่า ในช่วงระยะเวลา 3 ปีจากนี้ ปตท.คงต้องใช้งบลงทุนรวมประมาณ 1 พันล้านบาท เพื่อการพัฒนาและการออกแบบพื้นที่ใช้สอยและให้บริการภายในสถานีบริการน้ำมันที่รองรับผู้ใช้บริการทุกกลุ่มอย่างเป็นมิตร โดยจะปรับปรุงให้เป็นแบบ Friendly Design มุ่งเน้นการสร้างทางราบและทางลาดเพื่อรองรับการใช้บริการของผู้สูงวัยและการใช้พาหนะรถเข็นต่างๆ ซึ่งได้ปรับปรุงแล้วกว่า 100 สาขา โดยตั้งเป้าหมายจะปรับปรุงให้เป็น Friendly Design ให้ครบกว่า 1.5 พันสาขา
นอกจากนั้น ปตท.จะยังคงเดินหน้าขยายสาขาสถานีบริการน้ำมันในโมเดลที่เข้าถึงชุมชนต่อเนื่อง (Compact Model) ซึ่งปัจจุบันเปิดบริการได้แล้วประมาณ 20 สาขา วางแผนปีนี้จะเปิดเพิ่มอีกประมาณ 50 สาขา ใช้งบลงทุนเฉลี่ย 15-18 ล้านบาทต่อสาขา
ทั้งนี้ ธุรกิจค้าปลีกของบริษัทในปี 2560 คาดว่ารายได้จะมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีของประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมากำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงค่อนข้างทรงตัว โดยรายได้ธุรกิจค้าปลีกของบริษัทปี 2559 เติบโตกว่าจีดีพีประมาณ 4-5%