xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันอาหารเกาะติดบาทแข็งหวั่นฉุดรายได้ ลุ้นเป้าส่งออกอาหารปีนี้ 1 ล้านล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สถาบันอาหารมั่นใจส่งออกอาหารทั้งปี 2560 จะขยายตัวได้ 5.3% ด้วยมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ส่วนไตรมาสที่ 2 ประเมินว่าจะมีมูลค่าการส่งออกราว 250,330 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.2% จับตาบาทแข็งค่าอาจกระทบมูลค่าส่งออกลดลงได้

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การส่งออกอาหารไทยในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.3% ประมาณการมูลค่าส่งออกจะอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท ส่วนไตรมาสที่ 2/2560 คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกราว 250,330 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากคำสั่งซื้อของผู้นำเข้าที่จะกลับมาเพิ่มสูงอีกครั้งหลังจากลดลงในช่วงต้นปี รวมทั้งวัตถุดิบหลายรายการที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นสอดรับกับความต้องการของโรงงานแปรรูป สินค้าส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นและส่งผลบวกต่อภาพรวมการส่งอาหารไทยไตรมาส 2 ได้แก่ ไก่ ทูน่ากระป๋อง กุ้ง สับปะรดกระป๋อง เครื่องปรุงรส และผลิตภัณฑ์มะพร้าวเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม คงจะต้องติดตามภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าซึ่งอาจกระทบต่อมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทลดลงได้ ซึ่งจากการส่งออกอาหารไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีมูลค่า 236,329 ล้านบาท ลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกในรูปดอลลาร์มีมูลค่า 6,736 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลทำให้รายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทเริ่มลดลง

โดยสินค้าหลักที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง สับปะรดกระป๋อง และน้ำผลไม้ โดยข้าวลดลงตามความต้องการนำเข้าข้าวของผู้ซื้อรายใหญ่ โดยเฉพาะอินโดนีเซียและประเทศในแถบแอฟริกาเป็นหลัก น้ำตาลทรายลดลงตามปริมาณวัตถุดิบอ้อย ในขณะที่แป้งมันสำปะหลังลดลงจากการที่ผู้นำเข้าโดยเฉพาะจีนหันไปใช้แป้งทดแทนจากธัญพืชชนิดอื่น กุ้งลดลงเล็กน้อยจากผลพวงน้ำท่วมภาคใต้ตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน ส่วนสับปะรดกระป๋องและน้ำผลไม้ลดลงจากการที่คู่ค้าชะลอการสั่งซื้อหลังจากราคาวัตถุดิบสับปะรดโรงงานอ่อนตัวลงมาก

“ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่โดดเด่น ได้แก่ ไก่ ผลิตภัณฑ์มะพร้าว และอาหารพร้อมรับประทาน โดยไก่ขยายตัวดีหลังจากที่ประเทศคู่ค้าหลักอย่างญี่ปุ่นเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนก รวมทั้งเกาหลีใต้ที่เปิดตลาดไก่สดให้กับไทยได้ไม่นานก็ประสบภาวะการระบาดของโรคไข้หวัดนกเช่นกัน ทำให้มีการนำเข้าไก่จากไทยเพิ่มขึ้นมาก ส่วนผลิตภัณฑ์มะพร้าวซึ่งมีจุดเด่นเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ จึงขยายตัวตามความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อาหารพร้อมรับประทานขยายตัวได้ดีทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย” นายยงวุฒิกล่าว

เมื่อพิจารณาเฉพาะตลาดอาเซียน (เดิม) พบว่าในไตรมาสที่ 1 นี้มีมูลค่าส่งออก 27,604 ล้านบาท หดตัวลง 27.6% สินค้าส่งออกที่ลดลงมาก เช่น ข้าว น้ำตาล และแป้งมันสำปะหลัง ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ส่วนใหญ่ขยายตัวดี โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV ที่ขยายตัว11.0% โดยมีสินค้าส่งออกที่ขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องดื่ม น้ำตาลทราย ผลไม้สด และผลิตภัณฑ์นม ส่วนการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.4% โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวดีอยู่ในกลุ่มไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูป กุ้งแช่แข็งและกุ้งแปรรูปเป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น