ประเทศ “นอร์เวย์”หนึ่งในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ตั้งอยู่ในยุโรปเหนือ มีออสโลเป็นเมืองหลวง ปัจจุบันมีประชากรราว 3.9 ล้านคน อดีตนอร์เวย์จัดเป็นประเทศยากจนประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรรม จนกระทั่งปี 2512 นอร์เวย์ได้ค้นพบแหล่งปิโตรเลียมในทะเลเหนือ และนี่คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ
ผลจากการค้นพบแหล่งปิโตรเลียม นอร์เวย์ได้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือ NOC ชื่อว่า Statoil ในปี 2515 โดยมีหน่วยงานรัฐกำกับและออกเกณฑ์ใบอนุญาตสัมปทานชื่อ Norwegian Petroleum Directorate ซึ่งรูปแบบการให้สัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าวก็ใช้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งระยะแรก Statoil ยังเข้าไปถือหุ้นในแหล่งสัมปทานทุกราย 50% และไม่ต้องจ่ายเงินลงทุนช่วงสำรวจเลย
ขณะเดียวกัน นอร์เวย์ได้นำผลประโยชน์จากปิโตรเลียมทั้งหมดรวมถึงการเก็บจากผู้ใช้มาจัดตั้งกองทุนที่เรียกว่า State's Direct Financial Interests หรือ SDFI ต่อมารัฐบาลนอร์เวย์นำ Statoil เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งที่นอร์เวย์และนิวยอร์กจึงต้องโอนสิทธิประโยชน์การเข้าไปลงทุนในแหล่งสัมปทานมาไว้ใน SDFI และจัดตั้ง บ.เปโตโร (Petoro) เป็น NOC ที่รัฐถือหุ้น 100% ในปี 2544 เพื่อมาบริหารจัดการ SDFI
ทั้งนี้ Petoro ยังสามารถเข้าไปร่วมทุนกับผู้รับสัมปทานใหม่ๆ ได้อีก โดยหน่วยงานคล้ายกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติของไทยเป็นผู้ชี้เป้าโดยการขอใช้อำนาจการมีส่วนร่วมของรัฐเข้าไปเป็นผู้ร่วมทุนที่รัฐคิดว่ามีศักยภาพ ด้วยนโยบายดังกล่าวทำให้ปัจจุบันนอร์เวย์มีกองทุนมหาศาลขนาดใหญ่อันดับ 1 ของโลก ซึ่งขนาดกองทุนเปรียบได้ว่าเด็กที่เกิดใหม่จะมีเงินติดตัวถึงคนละ 45 ล้านบาทเลยทีเดียว
แม้ว่า “นอร์เวย์” จะค้นพบแหล่งปิโตรเลียมในประเทศทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากมายจนทำให้กลายเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันและก๊าซฯ ติดอันดับ 3 ของโลกในช่วงทศวรรษ 2000 แต่รัฐบาลนอร์เวย์ก็เลือกที่จะไม่อุดหนุนราคาน้ำมันให้กับคนในประเทศ โดยให้อิงกลไกสะท้อนต้นทุนโดยพยายามชี้แจงประชาชนให้เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้จะหมดในอนาคตจึงเลือกที่จะนำผลกำไรจากแหล่งปิโตรเลียมที่ค้นพบไว้ในรูปของกองทุนมาจัดสรรเป็นสวัสดิการของประชาชน โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาฟรี ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่านอร์เวย์จะพบน้ำมันและก๊าซฯ มหาศาลแต่กลับใช้ “ไฟฟ้า” เป็นพลังงานหลักของประเทศและพลังงานไฟฟ้า 90% เป็นการผลิตมาจากพลังงานน้ำเพราะนอร์เวย์มีน้ำตลอดปีจากการละลายของหิมะที่ขั้วโลกจึงทำให้สามารถพัฒนาเขื่อนได้ ด้วยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำใครๆ ก็ทราบดีว่ามีต้นทุนต่ำ จึงไม่แปลกที่ค่าไฟของนอร์เวย์เฉลี่ยอยู่ที่กว่า 3 บาทต่อหน่วยซึ่งถือเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับไทยมาก ซึ่งหากเทียบรายได้ต่อหัวประชากรของไทยกับนอร์เวย์ที่ห่างกันถึง 8 เท่าตัวนั้นก็ถือว่านอร์เวย์ได้ใช้ไฟฟ้าที่ถูกเลยทีเดียว ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจะมีบริษัท Statkraft ซึ่งเป็นของรัฐทำหน้าที่หลัก และมีบริษัท Statnett ดูแลสายส่งกระแสไฟฟ้า
มองนอร์เวย์ก็มองย้อนกลับมาที่ไทยบ้าง ก็มีทั้งความเหมือนและความต่าง สิ่งที่เหมือนคือรูปแบบการให้สัมปทานปิโตรเลียมเราก็ใช้เหมือนเขามาตั้งแต่ปี 2514 ซึ่งจะเห็นว่าการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมก็ไม่นานไปกว่ากันมากนัก แต่อดีตนอร์เวย์ใช้การเก็บรายได้จากค่าภาคหลวงเหมือนไทยแต่ขณะนี้กำหนดให้ผู้รับสัมปทานหักค่าใช้จ่ายให้หมดก่อนเหลือผลกำไรคิดภาษี 2 ชั้น คือ ภาษีนิติบุคคลปกติ และ Special Tax ถูกดีไซน์เฉพาะประเทศนี้ 2 อันรวมกันเก็บประมาณ 70% ของกำไร แต่ถ้าเทียบว่ารัฐได้จากการผลิต 1 ล้านเหรียญ รัฐนอร์เวย์ได้ 40% ไทยอยู่ที่ 70% จึงได้มากกว่า แต่รายได้ปิโตรเลียม ภาษีน้ำมันต่างๆ ของไทยไม่ได้ถูกตั้งเป็นกองทุนเพื่อนำไปลงทุนต่อ แต่ถูกจัดส่งรายได้เข้าคลังเพื่อนำไปจัดทำงบประมาณพัฒนาประเทศแทน
ขณะเดียวกัน ไทยก็มี บมจ.ปตท. ที่เหมือนกับ Statoil แต่ไม่ได้มี Petoro ที่จะมาบริหารกองทุน นอกจากนี้ ไทยเองก็มิได้เป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซฯ การค้นพบหลักถูกนำมาใช้ในประเทศและยังต้องนำเข้าเพิ่มเติม กระแสไฟฟ้าของไทยที่มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำหน้าที่ผลิตราว 60% ที่เหลือให้เอกชนเข้ามาผลิตและส่วนใหญ่เชื้อเพลิงต้องพึ่งก๊าซฯ ที่ราคาไม่ได้ต่ำเท่ากับพลังงานน้ำของนอร์เวย์ ส่วนเขื่อนที่ผลิตไฟของไทยก็มีไม่มากเฉลี่ยผลิตไฟแค่ 5% ต่อปีและสร้างมาเพื่อบริหารจัดการน้ำเป็นหลักไฟเป็นแค่ผลพลอยได้….ว่าแล้วก็เลยนำเข้าไฟพลังงานน้ำจากเพื่อนบ้านเพราะถูกดีอีกส่วนหนึ่ง
สิ่งที่ต่างที่เห็นชัดอีกประการคือ ที่ผ่านมาไทยเลือกที่จะอุ้มราคาพลังงานไม่ให้สะท้อนกลไกตลาดบ่อยครั้ง ซึ่งนอกเหนือจากเหตุผลดูแลค่าครองชีพประชาชนซึ่งก็พอจะเข้าใจได้แล้ว แต่มีไม่น้อยเลยที่เป็นการหาเสียงทางอ้อมจากฝ่ายการเมือง ขณะเดียวกัน จิตสำนึกของคนในประเทศที่เห็นคุณค่าพลังงานไทยเองก็ยังถูกปลูกฝังน้อยเมื่อเทียบกับคนนอร์เวย์ที่ว่ากันว่าส่งเสริมให้เด็กไปเดินป่าดูธรรมชาติเพื่อให้เห็นคุณค่าของน้ำที่จะนำมาผลิตไฟกันเลยทีเดียว อย่างไรก็ดี ลักษณะภูมิประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์ที่ต่างกันชี้ให้เห็นว่าการบริหารจัดการที่มีวิสัยทัศน์คือสิ่งหนึ่งที่สำคัญต่ออนาคต
ข้อมูลที่เล่ามาทั้งหมดนี้อาศัยได้จากการอธิบายของผู้บริหารของกระทรวงปิโตรเลียมและพลังงานของนอร์เวย์และทีมงานของกระทรวงพลังงานในโอกาสที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงานและสื่อมวลชนไปดูงานด้านพลังงานที่ประเทศเดนมาร์กและนอร์เวย์ 16-21 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งก็ถือว่าเป็นประโยชน์ในองค์ความรู้ที่จะเกิดขึ้นกับทุกๆ ฝ่าย สามารถเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้สังคมไทยได้
วันนี้ “พลังงาน” ไทยเดินมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อสัมปทานของแหล่งก๊าซขนาดใหญ่ในอ่าวไทยคือ เอราวัณ และบงกช จะหมดอายุสัมปทานลงในช่วงปี 2565-66 และไทยได้มีการปรับปรุง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ…….และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ……เพื่อรองรับการเปิดประมูล 2 แหล่งก๊าซฯ ซึ่งขณะนี้ยังมีประเด็นถกเถียงกันไม่จบว่าด้วยรูปแบบการบริหารจัดการที่มีทั้งระบบสัมปทาน แบ่งปันผลผลิต (PSC) และสัญญาจ้างบริการ (SC) ว่าจะใช้รูปแบบใด แล้วยังว่าด้วยแนวคิดที่ให้จัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติหรือ NOC อีกด้วย ……..ทั้งหมดนี้คงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะตัดสินใจ แต่ประโยชน์ขอให้ตกแก่ประเทศชาติเป็นจบ