ผู้จัดการรายวัน 360 - “ซีอาร์จี” ยิ้มรับ บริษัทแม่ชาบูตงที่ญี่ปุ่นอนุมัติแผนหลายอย่างตามที่เจรจา พร้อมดันชาบูตงทะยานขึ้นพรีเมียม ขยายช่องทางเทกอะเวย์กับดีลิเวอรี ปรับแกรนด์เมนูเพิ่มอีก 2-3 สาขาปีนี้
นายพล ศรีแดง ผู้อำนวยการอาวุโส แบรนด์ ชาบูตง ราเมน บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือซีอาร์จี เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เจรจากับบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นของชาบูตงมาตลอดตั้งแต่เริ่มกิจการในไทยเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ชาบูตงมีความพรีเมียมและคล้ายกับที่ญี่ปุ่นมากที่สุด จากเดิมที่มีต้นตำรับญี่ปุ่นอยู่แล้วโดยเฉพาะน้ำซุปที่ผลิตและนำเข้ามาจากญี่ปุ่นโดยตรง 100% ซึ่งถือเป็นรายเดียวในไทยก็ว่าได้ที่นำเข้าน้ำซุปต้นตำรับดั้งเดิมจากญี่ปุ่นเข้ามา และอีกหลายอย่างที่เป็นอยู่แล้วทั้งคุณภาพวัตถุดิบ วิธีการบริหาร
ล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้วบริษัทแม่ได้ให้ไทยผลิตไข่ยางมะตูมในไทยเพื่อป้อนให้กับร้านชาบูตงได้แล้วแต่ต้องได้รับการควบคุมและผ่านมาตรฐานของญี่ปุ่นด้วย รวมทั้งการอนุญาติให้ไทยสามารถทำสเปเชียลเมนูหรือซีซันนัลเมนูได้ด้วย อีกทั้งก่อนนี้ไม่นานก็ยังอนุมัติให้ทำตลาดในช่องทางเทกอะเวย์และดีลิเวอรีได้ด้วย จากเดิมที่ยังทำไม่ได้ เพราะให้เปิดเฉพาะช่องทางที่เป็นร้านนั่งรับประทานเท่านั้น
ทั้งนี้ เซ็นทรัลทยอยดำเนินการปรับภาพลักษณ์และโพซิชันนิ่งของชาบูตงใหม่อย่างต่อนื่อง ให้มีความเป็นราเมนพรีเมียมมากกว่าเดิมที่วางตำแหน่งเป็นตลาดกลาง โดยมีการปรับทั้งเมนูเป็น แกรนด์เมนู เน้นเพิ่มท็อปปิ้ง ซึ่งส่งผลให้มีเมนูข้าว 2 รายการ และราเมน 7 รายการจากเดิมมี 11 รายการ และจะมีเมนูใหม่ทุก 3 เดือน ล่าสุดเปิดตัว วาฟุ คอนซอมเม ราเมน มีราคาสูงจากเดิมประมาณ 20%
สำหรับแผนขยายสาขาปี 2560 จะเปิดใหม่ประมาณ 2-3 สาขา เช่นที่เซ็นทรัลพระรามสอง และจามจุรีสแควร์ เป็นโมเดลใหม่ของชาบูตง ลงทุน 7-10 ล้านบาทต่อสาขา จากปัจจุบันมี 15 สาขา ส่วนปีที่แล้วไม่ได้ขยายสาขาเพราะอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยน โดยวางเป้าหมายภายใน 3 ปีจากนี้จะมีรวมประมาณ 30 สาขา เน้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่เท่านั้น ขณะนี้มีต่างจังหวัดที่เดียวคือ เชียงใหม่
โดยยอดใช้จ่ายต่อบิลของลูกค้าเฉลี่ยที่ 450 บาทต่อ 2 คน เพิ่มจากเดิมที่เฉลี่ย 420 บาทต่อ 2 คน และลูกค้าเข้าร้านเฉลี่ย 1.5 ครั้งต่อเดือน
นายพลกล่าวด้วยว่า บริษัทฯ จะเดินหน้าเพิ่มดิจิตอลคอมเมิร์ซทัชพอยต์เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น การเปิดตัวโมบายล์แอปพลิเคชัน การรับออเดอร์ผ่านออนไลน์ โดยใช้งบการตลาด 10 ล้านบาท รวมทั้งจะเริ่มจริงจังกับการทำเทกอะเวย์และดีลิเวอรีด้วย ซึ่งสัดส่วนรายได้ปี 2559 แยกเป็น นั่งรับประทานในร้าน 97% และเทกอะเวย์กับดีลิเวอรีที่ 3% และปี 2560 นั่งรับประทานในร้านจะเป็น 95% และเทกอะเวย์กับดีลิเวอรีเพิ่มเป็น 5%
ปี 2559 ยอดขายรวมทำได้ 250 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย ซึ่งปี 2560 นี้ตั้งเป้ารายได้เติบโต 5-10% และภายใน 3 ปีจากนี้มีรายได้รวม 400 กว่าล้านบาท ขณะนี้ชาบูตงมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 10% จากตลาดราเมนรวมกันมีมูลค่าประมาณ 3,134 ล้านบาท