xs
xsm
sm
md
lg

สสว.จ่อเพิ่มวงเงินสินเชื่อเอสเอ็มอีรายย่อยหลังความต้องการพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สสว.เดินหน้า “โครงการสินเชื่อประชารัฐ เพื่อเอสเอ็มอีรายย่อยหรือ Micro SME” และวิสาหกิจชุมชนรายละ 2 แสนบาทโดยไม่มีดอกเบี้ย ระยะเวลา 10ปี 500ล้านบาทความต้องการพุ่งหากไม่พอพร้อมควักเพิ่ม
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( สสว.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการสานพลังประชารัฐกลุ่มเอสเอ็มอี ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายอย่อยหรือ Micro SME ที่ สสว.นำเสนอใน 2 ด้านหลัก โดยมาตรการทั้ง 2 ด้านนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากนายอุตตมะ สาวนายน รมว.อุตสาหกรรมในฐานะประธานอนุกรรมการของ สสว.แล้วโดยจะแบ่งมาตรการช่วยเหลือ 2 ด้าน คือ ด้านการเงิน และด้านการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

สำหรับการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน สสว.จะจัดสรรเงินจากกองทุนฟื้นฟู SME วงเงิน 2,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลมอบหมายให้ สสว.ดำเนินการมาปล่อยกู้ให้แก่ SME รายย่อย (Micro SME) และวิสาหกิจชุมชน รายละไม่เกิน 2 แสนบาท โดยไม่ต้องมีหลักประกันและไม่คิดดอกเบี้ย เป็นเงินกู้ระยะยาว 10 ปีปลอดเงินต้น 3 ปีแรก เพื่อให้กิจการรายย่อยนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนหรือปรับปรุงกิจการ


ทั้งนี้ วงเงินสินเชื่อดังกล่าวคาดว่าจะสามารถช่วยเอสเอ็มอีรายย่อยได้ประมาณ 2,500 ราย ซึ่งเฉพาะในวันแรกของการเปิดตัว มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยมายื่นแล้วทั้งหมด 446 ราย วงเงินรวม 89 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มร้านค้าประชารัฐสุขใจ (โอทอป) และกลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชนรวมกันมากถึง 406 ราย ซึ่งถือเป็นกลุ่มแรกๆ ที่จะเข้าไป โดยจะเร่งกระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อภายใน 7 วัน

"เบื้องต้นคาดว่าสินเชื่อก้อนแรก 500 ล้านบาทนี้ น่าจะมีผู้ประกอบการเข้ามาขอรับสินเชื่อครบหมดภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งหากยังมีความต้องการอยู่ และวงเงินไม่เพียงพอ จะขอคณะกรรมการสสว.จัดสรรวงเงินจากกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีและกองทุนพลิดฟื้นเอสเอ็มอีเข้ามาเพิ่มให้" นางสาลินี กล่าว

สำหรับคุณสมบัติของผู้ประกอบการรายย่อย และวิสาหกิจชุมชนที่สามารถขอกู้ได้ คือ

1) มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่งหรือมีการจดทะเบียนการค้า หรือทะเบียนพาณิชย์ หรือทะเบียนอื่นใดกับหน่วยงานราชการโดยอาจจะเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือนิติบุคคลก็ได้

2) ดำเนินกิจการแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี และมีความตั้งใจที่จะดำเนินกิจการต่อไป

3) เป็นลูกค้าของสถาบันการเงิน ซึ่งมีความหมายกว้างครอบคลุม คือ ธนาคารทุกประเภท กิจการ Non Bank ทุกประเภท เช่น ลิสซิ่ง บัตรเครดิต Nano Finance เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการอาจจะเป็นลูกค้าปกติที่สามารถจ่ายชำระได้ หรือเป็น NPL ก็ได้ ในเบื้องต้น ได้จัดสรรวงเงินให้กู้ยืมแก่ SME รายย่อยและวิสาหกิจชุมชนไว้ 500 ล้านบาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้ 2,500 ราย หากมีความจำเป็น สสว.จะพยายามหาเงินมาเพิ่มเติม

สำหรับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สสว.ได้จัดงบประมาณ 100 ล้านบาท โดยจะดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาคีใน 3 เรื่อง คือ 1) การให้ความรู้ด้านการตลาด เพื่อผู้ประกอบการจะมีความเข้าใจว่าควรจะปรับปรุงสินค้าและบริการอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ในกรณีที่ต้องมีการปรับปรุง สสว.จะหาโครงการอื่นเข้ามารองรับต่อไป

2) การยกระดับมาตรฐานสินค้าให้ถูกสุขอนามัยไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ สสว.จะดำเนินการในเรื่องนี้ร่วมกับ อย.(สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) และบริษัท Central Lab ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ สสว.กับกระทรวงการคลัง โดยจะเน้นกลุ่มสินค้าประเภทอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม 3) จูงใจให้ทำบัญชีอย่างถูกต้อง สสว.จะจัดดำเนินการร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

พร้อมกันนี้ได้มีผู้ประกอบการรายย่อยจำนวน 40 รายจาก 7 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ชุมพร เพชรบุรี ชัยนาท สระบุรี และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ส่งสินค้าเข้าไปขายในร้านค้าประชารัฐสุขใจ shop จำนวน 406 ราย จาก 31 จังหวัด รวมเป็นผู้ประกอบการจำนวนทั้งสิ้น 446 ราย ที่ให้ความสนใจมายื่นคำขอกู้เงิน ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้กรอกแบบฟอร์มขอกู้เงิน และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอนุมัติเป็นล็อตแรก วงเงินสินเชื่อ 89.2 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น