“มาสเตอร์การ์ด-ยูเนี่ยนเพย์-วีซ่า” ประกาศเปิดตัว “QR Code มาตรฐาน” สำหรับการชำระเงินในรูปแบบใหม่ ด้วยมาตรฐานแพลตฟอร์มระบบธุรกรรมการเงินแบบเปิด รองรับการทำงานร่วมกันระดับโลก พร้อมหนุนโรดแมปให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่ “ยุคสังคมไร้เงินสด”
ผู้บริโภคที่ถือบัตร “มาสเตอร์การ์ด ยูเนี่ยนเพย์ หรือวีซ่า” สามารถใช้แอปพลิเคชันบนมือถือที่รองรับ “QR Code มาตรฐาน” สำหรับการชำระเงินได้อย่างง่ายดายเพียงสแกน QR Code ที่แสดงอยู่ในร้านค้า โดย QR Code จะสามารถใช้งานได้บนสมาร์ทโฟนและโทรศัทพ์มือถือที่มีกล้องถ่ายภาพ
การกำหนดสเปกมาตรฐานสากลสำหรับการชำระเงินด้วย QR Code จะทำให้ผู้บริโภคและผู้ค้าในประเทศไทยมีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้นเพื่อชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย ทั้งยังง่ายในการตั้งค่าและการใช้งาน พร้อมมอบผลประโยชน์หลัก 3 ด้าน ได้แก่
1. ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องสแกน QR code ที่แตกต่างกันสำหรับการชำระเงินด้วยบัตร “มาสเตอร์การ์ด ยูเนี่ยนเพย์ และวีซ่า” เพราะผู้ค้าจะแสดงเพียงแค่ QR code เดียวที่หน้าร้าน หรือผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารที่บริการร้านค้า
2. การทำธุรกรรมผ่านเครือข่ายการชำระเงินระดับโลกทั้งสามเครือข่ายนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์การชำระเงินที่รวดเร็ว สะดวกสบาย และปลอดภัยที่สุด
3. “QR Code มาตรฐาน” มีไว้เพื่อการใช้งานร่วมกันทั่วโลก เพียงแค่ผู้บริโภคมีแอปพลิเคชันที่รองรับ “QR Code มาตรฐาน” สามารถชำระเงินด้วยได้ทุกที่ที่รับ “QR Code มาตรฐาน”
ขณะนี้ธนาคารและร้านค้าอยู่ในระหว่างการดำเนินงานติดตั้ง “QR Code มาตรฐาน” แล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3/60 ซึ่งจะมีส่วนช่วยนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มจุดชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้โรดแมปการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติของกระทรวงการคลัง
นอกจากจะเป็นตัวเลือกทางการชำระเงินที่เข้าถึงได้ง่ายและปลอดภัยให้กับทุกภาคส่วนแล้ว “QR Code มาตรฐาน” ยังจะมีส่วนในการเติบโตและเร่งให้เกิดการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสำหรับการรับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ลดลงสำหรับผู้ค้า โดยในอนาคตผู้บริโภคชาวไทยจะได้รับประโยชน์จากการนำ QR Code ไปใช้ชำระเงินพื้นฐานขณะเดินทางไปท่องเที่ยวนอกประเทศได้อีกด้วย
นายโดนัลด์ ออง ผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ “มาสเตอร์การ์ด” กล่าวว่า การเปิดตัวระบบ QR Code มาตรฐาน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของก้าวย่างที่สำคัญของประเทศไทย เพราะจะทำให้ผู้บริโภคพร้อมยอมรับและหันมาใช้เทคโนโลยีสำหรับการจ่ายเงินในรูปแบบใหม่ได้รวดเร็วขึ้น
“จากการสำรวจของมาสเตอร์การ์ดพบว่า ร้อยละ 50 ของผู้บริโภคที่มีอายุน้อยทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะหันมาใช้ QR Code ทันทีและมั่นใจว่าเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน ความต้องการใช้ QR Code จะแพร่หลายยิ่งขึ้นเมื่อเทคโนโลยีนี้ถูกนำไปใช้ในร้านค้าขนาดย่อมทั่วประเทศ รวมถึงใช้สำหรับการจ่ายบิลและการชำระเงินแบบเรียกเก็บปลายทาง”
นายโดนัลด์กล่าวด้วยว่า QR Code นี้พัฒนาด้วยมาตรฐานเดียวกับ QR ทั่วโลก ทำให้ผู้ถือ “บัตรมาสเตอร์การ์ด” ใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการได้ทุกแห่งทั่วโลกที่รับ QR Code มาตรฐาน โดยสามารถมั่นใจในความปลอดภัยซึ่งถือเป็นจุดแข็งของบริการที่ “มาสเตอร์การ์ด” มอบให้ผู้ถือบัตร ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่การเป็น “สังคมไร้เงินสด”
ด้าน นายเหวินฮุ่ย หยาง ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล” กล่าวว่า ปัจจุบัน “ยูเนี่ยนเพย์” เดินหน้าร่วมมือในการดำเนินงานกับเครือข่ายทางการชำระเงินระดับโลก เพื่อพัฒนามาตรฐาน QR Code สำหรับการชำระเงินในฐานะที่ “ยูเนี่ยนเพย์” เป็นเครือข่ายการชำระเงินระดับโลก จึงมีการนำเสนอโซลูชันทางการชำระเงินเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งจะเป็นทางเลือกและรองรับความสะดวกสบายทางการชำระเงินให้ผู้ใช้งานรวมถึงกลุ่มธุรกิจต่างๆ
“QR Code มาตรฐาน” ถือเป็นย่างก้าวสำคัญทางด้านนวัตกรรมของสถาบันการชำระเงินในประเทศไทยที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานและร้านค้าต่างๆ สามารถชำระเงินผ่านระบบ QR Code ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย โดยระบบดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางการชำระเงิน โดย “ยูเนี่ยนเพย์” จะร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับสร้างสรรค์โซลูชันทางการชำระเงินเพื่อส่งมอบสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้งานในประเทศไทย
นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการ “วีซ่า” ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้เติบโตแบบยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคและผู้ค้ารายย่อยในระยะยาว เนื่องจากจะช่วยการลดค่าใช้จ่าย รวมถึงง่ายต่อการติดตั้ง จึงถือเป็นทางเลือกที่สำคัญอีกทางนอกเหนือเครื่อง POS แบบเดิม
จากความสำเร็จของ mVisa ทั่วโลกได้พิสูจน์แล้วว่าโซลูชัน QR Code มาตรฐานของ “วีซ่า” มีความยืดหยุ่น ความปลอดภัยและใช้งานได้อย่างง่ายดาย ซึ่งการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นมีส่วนผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินที่มีมูลค่ากว่า 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.13 หมื่นล้านบาทที่เพิ่มเข้าไปใน GDP ของประเทศตั้งแต่ปี 2554-2581