xs
xsm
sm
md
lg

“เทคซอส” เผยปัจจัยองค์กรยักษ์ใหญ่เข้าสนับสนุนสตาร์ทอัพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ และ อมฤต เจริญพันธ์
ผู้จัดการรายวัน 360 - เทคซอสเผยปัจจัยองค์กรยักษ์ใหญ่ร่วมสนับสนุนสตาร์ทอัพ คาดปี 2560 ปีทองที่องค์กรในไทยหันมาตั้งบริษัทในรูปแบบ CVC พร้อมลุยจัดงาน Techsauce Global Summit 2017 งานสัมมนารวบรวมองค์ความรู้เทคโนโลยีระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน 28-29 ก.ค.นี้ หวังสนับสนุน Technology Ecosystem ในไทยให้แข็งแรง หนุนประเทศให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านเทคโนโลยีของอาเซียน

น.ส.อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด ผู้พัฒนาเว็บไซต์สื่อธุรกิจด้านเทคโนโลยี Techsauce.co เปิดเผยว่า เทคโนโลยีและสตาร์ทอัพกำลังมีบทบาทและอิทธิพลมากในเวทีระดับโลก หลากหลายธุรกิจ และอุตสาหกรรมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด จนทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งทั่วโลกหันมาปรับกลยุทธ์ สร้างโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพ เช่น Accelerator Program, Corporate Venture Capital (CVC) ซึ่งมีทั้งการลงทุนเองโดยตรง และการลงทุนในกองทุนที่สนับสนุนสตาร์ทอัพอีกทีด้วย

“ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ คือ องค์กรขนาดใหญ่เองมีความรู้ความเชี่ยวชาญในภาคธุรกิจนั้นๆ โดยตรง มีเงินทุน และฐานลูกค้าขนาดใหญ่อยู่แล้ว แต่แน่นอนว่าเมื่อเป็นองค์กรขนาดใหญ่การขับเคลื่อนเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่สตาร์ทอัพเองมีความคล่องตัวมุ่งเน้นค้นหาโซลูชันเพื่อแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรมนั้นๆ ซึ่งก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา แต่อาจขาดเงินทุนสนับสนุนเพื่อให้เติบโต การผนึกกำลังนำเอาจุดเด่นของทั้งสองฝ่ายเข้ามาจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้อีกมาก” น.ส.อรนุชกล่าว

ขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทย พบว่ามี Corporate Venture Capital เกิดขึ้นมากมายจากหลายอุตสาหกรรม จากเดิมที่เราเห็นกันมากในกลุ่มธุรกิจสื่อสาร และสถาบันการเงิน ปัจจุบันเริ่มมีองค์กรอื่นๆ เข้ามาร่วมสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นสายการผลิต อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน เป็นต้น

ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 มีการเปิดตัว CVC ไปแล้วถึง 6 ราย และเชื่อว่าช่วง 8 เดือนที่เหลือยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่บางรายเตรียมเปิดตัว CVC ของตัวเองเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน ปัจจุบันทั้งกองทุน และ CVC ในไทยระดมทุนไปแล้วนับตั้งแต่ปี 2012 จนกระทั่งถึงปี 2017 ไม่ต่ำกว่า 261.128 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 9050.7 ล้านบาท ในขณะที่ยอดระดมทุนในช่วงปลายปี 2016 ของสตาร์ทอัพไทยเองไม่ต่ำกว่า 86.02 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 2,981.45 ล้านบาท (คิด 1 เหรียญสหรัฐ = 35 บาท)
อรนุช เลิศสุวรรณกิจ
น.ส.อรนุชกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อสนับสนุนการเติบโต และสร้าง Technology Ecosystem ในไทยให้แข็งแกร่งมากขึ้น เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรขนาดใหญ่ และธุรกิจสตาร์ทอัพได้เชื่อมโยงกับนักลงทุนในต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากทั่วโลกในภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป จีน และญี่ปุ่น บริษัทจึงเตรียมจัดงาน Techsauce Global Summit 2017 งานสัมมนาด้านเทคโนโลยีระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรองรับผู้เข้าร่วมได้กว่า 6,000 คน ขึ้นใจกลางกรุงเทพฯ ในวันที่ 28-29 ก.ค.นี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

ที่ผ่านมาไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิต เป็นฐานการผลิตสำคัญของหลายภาคธุรกิจ แต่ยังขาดการเพิ่มคุณค่า (Value-Added) โดยการนำเอาเทคโนโลยีและดิจิตอลมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสินค้าที่ตอบโจทย์ตลาด ขณะนี้บริษัทเห็นแนวโน้มหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีเงินทุนไหลเข้าสู่ระบบมากขึ้นจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สิ่งที่ยังต้องเพิ่มเติมนอกเหนือจากองค์ความรู้ ก็คือ การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน และการร่วมมือกับองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้

“Techsauce Global Summit 2017 จึงเป็นงานที่จะมาช่วยเติมเต็ม ทั้งในส่วนขององค์ความรู้และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ เราเชิญทั้งผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพชื่อดัง นักลงทุน แอ็กเซเลอเรเตอร์ จากทั่วโลกมาร่วมงาน ด้วยความมุ่งหวังว่าเวทีของเราจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงผู้ประกอบการ นักลงทุน และทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ของอาเซียนได้อย่างแท้จริง” น.ส.อรนุชกล่าว

สำหรับการจัดงานในปีนี้สามารถรองรับผู้เข้าร่วมงานได้มากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่า และมีการตระเวนโรดโชว์ในประเทศต่างๆ อีกกว่า 10 ประเทศ

ภายในงาน Techsauce Global Summit 2017จะมีซีอีโอ นักลงทุน และวิทยากรด้านเทคโนโลยีจากทั่วโลกรวมกว่า 250 คน มาร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ ประสบการณ์ วิธีคิด เช่น Dave McClure จาก 500 Startups, Vitaly M. Golomb จาก HP Tech Ventures ซึ่งเคยพูดในเวทีใหญ่ๆ ทั่วโลกมาแล้ว เช่น World Economic Forum, Mike Peng จาก IDEO Tokyo, Kei Shimada Global Director of Innovation and Business Development บริษัท Dentsu ประเทศญี่ปุ่น, Hiroshi Saijo จาก Yamaha Motor Ventures & Laboratory ที่บินตรงมาจาก Silicon Valley, Roy Teo Roy Teo ผู้เชี่ยวชาญด้าน FinTech และ Innovation จากธนาคารกลางแห่งประเทศสิงคโปร์, Alvin Ng จากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง GE Digital เป็นต้น
อมฤต เจริญพันธ์
ด้าน นายอมฤต เจริญพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด กล่าวว่า ในงานจะมีเวทีทั้งหมด 8 เวที โดยเน้นเนื้อหาไปที่เรื่องของ Global Trend ในฟากโลกตะวันตกว่าเกิดอะไรขึ้น และในภูมิภาคเอเชียนั้นเกิดอะไรขึ้นในแต่ละภาคอุตสาหกรรม และควรรับมืออย่างไร ครอบคลุมเนื้อหาทั้งด้าน Digital Manufacturing, UrbanTech, FinTech, InsurTech, EnergyTech, EdTech, Automotive, FoodTech, BioTech, การทำธุรกิจสตาร์ทอัพ, การลงทุน และอื่นๆ อีกมากมายกว่า 100 หัวข้อด้วยกัน ที่พลาดไม่ได้ครั้งแรกในไทยกับ Technlogy Show case ที่นำกรณีศึกษาจริงของการนำเทคโนโลยีอย่าง Blockchain, Artificial Intelligence (AI), Machine Learning, IoT, Biometric มาถ่ายทอดให้เข้าใจง่าย จับต้องได้

“คอนเซ็ปต์หลักของทั้ง 8 เวที และการสัมมนาอีกกว่า 100 หัวข้อ มาจากสถานการณ์เทคโนโลยีโลกที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับองค์ความรู้ที่ทันสมัย รวมถึงสามารถเลือกเข้าฟังหัวข้อสัมมนาได้หลากหลาย ตรงตามวัตถุประสงค์ในการนำไปต่อยอดกับธุรกิจ เทคโนโลยี และสตาร์ทอัพของตัวเอง” นายอมฤตกล่าว

การจัดงานครั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากผู้ประกอบการรายใหญ่ในหลายอุตสาหกรรมที่กำลังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและการลงทุนในสตาร์ทอัพ เช่น AddVentures, Corporate Venture Capital of SCG บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ดีแทค แอ็กเซเลอเรต บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์และอีกหลายองค์กรชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ

งาน Techsauce Global Summit 2017 ถือเป็นงานที่เหมาะกับองค์กรที่กำลังค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ และแบรนด์ที่กำลังเตรียมการด้าน Digital Transformation ผู้ประกอบการที่มองหาเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กร ตลอดจนสตาร์ทอัพและผู้ที่สนใจเรื่องราวของเทคโนโลยี องค์ความรู้ใหม่ๆ ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถดูรายละเอียดและจองตั๋วเข้าร่วมงานได้ที่ https://summit.techsauce.co



กำลังโหลดความคิดเห็น