จากการประชุม “WTTC Global Summit 2017” ประจำปี 2560 ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการจัดสัมมนาในประเด็น “การท่องเที่ยวมีพลังสำคัญอย่างไรในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของผู้คน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2573”
งานครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “การร่วมมือปฏิรูปโลกของเรา” และนำเสนอบทบาทสำคัญของการท่องเที่ยวที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการขยายโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก ตัวอย่างเช่น การเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มรายได้ต่อจำนวนประชากรและกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งสุดท้ายแล้วจะมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงช่วยกระตุ้นให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวต่างๆ มีการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น
นายเก๋อ หัวหย่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไชน่า ยูเนี่ยนเพย์ จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศจีนกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรและการบริการของประเทศ ในปี 2559 รายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศของประเทศจีน เพิ่มขึ้นจาก 94.8 ล้านล้านบาท หรือ 3.9% ของ GDP ในปี 2554 เป็น 194.6 ล้าน ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.3%ของ GDP ในปี 2559 ด้วยห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ยาว มีการผนวกรวมกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในระดับสูง จึงทำให้รายได้จากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศจีนสามารถผลักดันการเติบโตในด้านการลงทุนเพื่อสังคมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมการขนส่งทางรางเติบโตกว่า 80% และช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของโรงแรมและการบินพลเรือนให้เติบโตกว่า 90%
เนื่องด้วยประเทศจีนเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้โดยสารเดินทางออกนอกประเทศจำนวนมากที่สุดในโลก โดยในปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวจีนได้เดินทางออกนอกประเทศเป็นจำนวนราว 122 ล้านคน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจีนได้กลายมามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก นายเก๋อ คาดว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวน 8.9 ล้านคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย และ ใช้จ่ายในประเทศไทยสูงถึง 4.38 แสนล้านบาท เทียบกับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย 1.64 ล้านล้านบาท การท่องเที่ยวจีนจึงน่าจะมีศักยภาพในการช่วยกระตุ้นการเติบโตของรายได้ในประเทศไทยเช่นกัน
นายเก๋อ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุม WTTC มีความสำคัญสำหรับผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นการประชุมที่ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมได้แบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลเชิงลึก โดย “ยูเนี่ยนเพย์” รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้แบ่งปันวิสัยทัศน์ขององค์กรและมุมมองเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงโลกในเชิงบวกได้
“ยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล เดินหน้าขยายเครือข่ายการชำระเงินระดับโลก โดยบัตรยูเนี่ยนเพย์สามารถใช้จ่ายได้ถึง 162 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมกว่า 41 ล้านร้านค้าและตู้เอทีเอ็มกว่า 2 ล้านจุดทั่วโลก ยูเนี่ยนเพย์จึงมีความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนสำคัญของความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยวและการทำธุรกรรมด้านการเงินด้วยความปลอดภัยในทุกๆ สถานที่ ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจท่องเที่ยวทั่วโลก และพัฒนาเครื่องอำนวยความสะดวกทางด้านการเงินในอนาคต”
ทั้งนี้ “ยูเนี่ยนเพย์” เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่มีฐานผู้ใช้มากที่สุดในโลกที่พร้อมให้บริการการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า และปลอดภัยสูงสุดเพื่อให้ผู้ใช้มั่นใจ โดยในประเทศไทย “ยูเนี่ยนเพย์” ช่วยให้บริการการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า เหมาะกับความต้องการของธุรกิจในท้องถิ่นและผู้บริโภค
สำหรับธนาคารในประเทศไทยที่ให้บริการบัตร “ยูเนี่ยนเพย์” ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารแห่งประเทศจีน, ธนาคารไอซีบีซี ไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารเกียรตินาคิน, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โดยบัตร “ยูเนี่ยนเพย์” ให้บริการครอบคลุมธุรกิจร้านค้าประเภทต่างๆ ในประเทศไทยเกือบ 90% เช่นเดียวกับให้บริการครอบคลุมเครื่องกดเอทีเอ็มเกือบทั้งหมด