“กบง.” เคาะราคาขายปลีกแอลพีจีลดลง 0.47 บาทต่อ กก.มาอยู่ที่ 20.49 บาทต่อ กก. หรือลดลง 7 บาทต่อถัง 15 กก. จากต้นทุนจริงที่ลดลง 2.56 บาทต่อ กก. โดยอีก 2.12 บาทต่อ กก.นำไปลดการอุดหนุนของกองทุนน้ำมันฯ ลง ส่งผลให้รายรับและรายจ่ายกองทุนน้ำมันฯ เป็นศูนย์แล้ว พร้อมจับตาความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีใกล้ชิด หวั่นกระทบราคาน้ำมัน
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี รมว.พลังงานเป็นประธาน เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ว่า กบง.ได้พิจารณาปรับลดราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีประจำเดือน พ.ค.ลดลง 0.47/กิโลกรัม (กก.) จากเดิม 20.96 บาทต่อ กก. เป็น 20.49 บาทต่อ กก. หรือปรับลดลงถังละ 7 บาท (ถัง 15 กก.) ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 14 เดือน มีผลตั้งแต่ 2 พ.ค.เป็นต้นไป
“ราคาแอลพีจีตลาดโลกเดือน พ.ค.ปรับลดลงจากเดือนก่อน 72.50 เหรียญสหรัฐต่อตัน มาอยู่ที่ 387.50 เหรียญต่อตัน ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาก๊าซตั้งต้นแอลพีจีปรับลดลง 2.5630 บาทต่อ กก. จาก 17.66 บาทต่อ กก.เป็น 15.10 บาทต่อ กก. แต่ที่ประชุมได้เกลี่ยด้วยการลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันลง 2.12 บาทต่อ กก. จากเดิมที่กองทุนน้ำมันชดเชยอยู่ที่ 3.719 บาทต่อ กก.เป็นชดเชยเหลือ 1.599 บาทต่อ กก. และที่เหลืออีก 0.47 บาทต่อ กก.นำไปลดราคาขายปลีกให้ประชาชน” นายทวารัฐกล่าว
ทั้งนี้ ผลดังกล่าวทำให้กองทุนน้ำมันมีรายรับและรายจ่ายสุทธิเป็นศูนย์ โดยฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 30 เมษายน 2560 อยู่ที่ 40,015 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีแอลพีจี 6,422 ล้านบาท และบัญชีน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 33.593 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคาแอลพีจีตลาดโลกในเดือน มิ.ย.คาดว่าจะยังคงเป็นขาลงเนื่องจากฤดูหนาวในแถบยุโรปและสหรัฐฯ เริ่มหมดลงทำให้ความต้องการลดตาม
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหารือและมีความกังวลถึงความไม่สงบในคราบสมุทรเกาหลีที่ยังคงให้ติดตามใกล้ชิดเนื่องจากจะมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันซึ่งที่ผ่านมาปัญหาดังกล่าวก่อนหน้านี้จากท่าทีของมหาอำนาจที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติในการเจรจาพูดคุยกันได้ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบขยับไปสู่ระดับ 57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ต่อมาล่าสุดหลังท่าทีการพูดคุยของมหาอำนาจเริ่มปรับในทิศทางดีขึ้น ราคาน้ำมันดิบดูไบก็ลดลงมาต่ำกว่าระดับ 50 เหรียญต่อบาร์เรล ดังนั้นจึงยังคงต้องติดตามใกล้ชิด