xs
xsm
sm
md
lg

กกพ.คลอดเกณฑ์โซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์เฟส 2 เปิดยื่นคำขอ 29 พ.ค.-2 มิ.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน หรือโซลาร์ฟาร์ม สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2 จำนวนไม่เกิน 219 เมกะวัตต์ จากที่คงเหลือระยะที่ 1 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2560

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกของ กกพ. กล่าวว่า หน่วยงานราชการสามารถเสนอได้ 1 โครงการ ต่อ 1 ส่วนงานต่อ 1 พื้นที่ เช่นเดียวกันกับสหกรณ์ภาคการเกษตรเสนอได้ 1 โครงการและต้องไม่เป็นสหกรณ์ที่ผ่านการคัดเลือกที่มีสิทธิเข้าทำสัญญากับการไฟฟ้าตามประกาศ กกพ. เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 โดยแต่ละโครงการสามารถเสนอได้ต้องมีขนาดกำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 5 เมกะวัตต์

สำหรับอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการนี้มีระยะเวลา 25 ปี และจะได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT ที่ 4.12 บาทต่อหน่วย และต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ไม่เกิน 30 มิถุนายน 2561 ซึ่งต้องทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผล หากไม่เข้าทำสัญญาภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ถือว่าคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าเป็นอันยกเลิก

ทั้งนี้ กกพ.ได้แบ่งเป้าหมายการจัดหาไฟฟ้าออกเป็น หน่วยงานราชการ ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ และสหกรณ์ภาคการเกษตร ไม่เกิน 119 เมกะวัตต์ ตามการจัดหาพื้นที่ ดังนี้ หน่วยงานราชการ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 25 เมกะวัตต์ ภาคกลาง 5 เมกะวัตต์ ภาคตะวันตก 15 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออก 10 เมกะวัตต์ ภาคเหนือ 5 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 เมกะวัตต์ ภาคใต้ 20 เมกะวัตต์ ส่วนภาคสหกรณ์ฯ พื้นที่ภาคเหนือ 19 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 50 เมกะวัตต์ ภาคใต้ 50 เมกะวัตต์

“การคัดเลือกในครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก กกพ.จะพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ประสงค์จะเป็นเจ้าของโครงการ รวมถึงความถูกต้อง ครบถ้วนของเอกสาร ศักยภาพระบบไฟฟ้าในเขตพื้นที่ที่ตั้งโครงการ เมื่อได้ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว กกพ.จะใช้วิธีการจับสลากเพื่อให้ได้ผู้ผ่านการคัดเลือกดำเนินการหาผู้ร่วมลงทุนโครงการของหน่วยงานราชการ หรือผู้สนับสนุนโครงการของสหกรณ์ภาคการเกษตร เพื่อมายื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าในขั้นตอนที่สอง โดย กกพ.จะพิจารณาในรายละเอียดของคุณสมบัติผู้ร่วมลงทุนโครงการและผู้สนับสนุนโครงการ ได้แก่ ที่ตั้งโครงการ ทุนในการดำเนินโครงการ เทคโนโลยีที่ใช้ในการดำเนินโครงการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” นายวีระพลกล่าว

หน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรที่ประสงค์จะเป็นเจ้าของโครงการ สามารถตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้ตั้งแต่วันที่ 8- 19 พฤษภาคม 2560 โดยสามารถขอรับแบบคำขอตรวจสอบได้ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. ที่ www.erc.or.th เพื่อนำมาเป็นเอกสารประกอบการยื่นคำขอเป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งมีกำหนดการยื่นคำขอตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม ถึง 2 มิถุนายน 2560 ณ สำนักงาน กกพ. อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 19 และภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2560 กกพ.จะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ ณ สำนักงาน กกพ. และผ่านทางเว็บไซต์ และในส่วนของการจับสลาก กกพ.ได้กำหนดเป็นวันที่ 26 มิถุนายน 2560 โดยจะแจ้งสถานที่จับสลากและรายละเอียดต่างๆ ให้ทราบอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น