xs
xsm
sm
md
lg

สภานายจ้างฯ กางข้อมูลเตือนแรงงานไทยรับมือโลกยุค “ออโตเมชัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระแสของโลกยุค “ออโตเมชัน” ที่ทำให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0 ให้สอดรับกับกระแสโลกนั้น ไม่อาจปฏิเสธว่า “แรงงาน” ส่วนหนึ่งจะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร ซึ่งหากแรงงานไม่ปรับตัวภาวะตกงานย่อมเพิ่มขึ้นแน่

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย ได้ชี้ให้เห็นข้อมูลการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ระบุไว้ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบของโลกยุค “ออโตเมชัน” ไว้อย่างน่าสนใจ 2 ประเด็น คือ 1. อุตสาหกรรม 4.0 ในอีก 2 ทศวรรษจะทำให้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานในภูมิภาคอาเซียนคิดเป็น 44% ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งรวมถึงประเทศไทยเราด้วย

2. การจ้างงานในอนาคต ประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ล้วนมีตัวเลขการว่างงานที่สูงขึ้น เช่น เยอรมนี อัตราการว่างงาน 6% ของแรงงานทั้งหมด สหรัฐอเมริกา 4-5% ญี่ปุ่น 3.5% เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าประเทศที่ก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับดังกล่าว

ปัจจุบันไทยมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับ 1.3% หรือประมาณ 5 แสนคน ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นมีส่วนสำคัญต่อการจ้างงานที่ยังคงรักษาระดับสูงไว้ ขณะที่นโยบายรัฐในการผลักดันเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 นั้นสอดรับกับกระแสโลกที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ระหว่างนี้จึงเป็นรอยต่อที่สำคัญที่รัฐต้องจริงจังกับการปรับโครงสร้างระบบการศึกษาที่ต้องวางแผนพัฒนาแรงงานให้ก้าวไปสู่เป้าหมายของรัฐที่วางไว้

“ผมคิดว่าอุตสาหกรรม 4.0 ที่เรากำลังให้สิทธิประโยชน์มากมายนั้นก็เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับทิศทางของโลก ไม่ทำก็คงไม่ได้ แต่สำคัญเราก็ต้องมองให้รอบด้านด้วย โดยเฉพาะคน เราจะเอาวางไว้ตรงไหน จะทำอย่างไรให้คนปรับตัวอยู่รอด ซึ่งผมคิดว่าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงหลายประเภทก็ควรจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนควบคู่กันไปอย่าทิ้งโดยไม่ส่งเสริมฯ เพราะส่วนหนึ่งจะได้รองรับแรงงานได้อีกทาง” นายธนิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น