“อุตตม” แจงกรณีการให้เช่าที่ดิน 99 ปีในพื้นที่อีอีซีเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เผย กม.มีรองรับอยู่แล้วสัญญาแรกเช่าได้ไม่เกิน 50 ปีซึ่งมีเงื่อนไขที่ต้องลงทุนในพื้นที่เท่านั้น เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายและคณะกรรมการอีอีซีต้องอนุมัติ ส่วนสัญญาขยายได้อีกไม่เกิน 49 ปี แต่การขยายเวลาให้ต้องเป็นไปตามข้อตกลง
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวระบุว่านักลงทุนต่างชาติสามารถเช่าพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เป็นเวลา 99 ปีนั้นน่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายอีอีซีกำหนด ประกอบด้วย 1. ต้องเป็นพื้นที่ 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) 2. ต้องเป็นโครงการที่สนับสนุน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ 3. ทุกโครงการต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ เช่น ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ ผลกระทบที่เกิดแก่ชุมชน และแนวทางการเยียวยา และ 4. ก่อนการอนุมัติโครงการต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงมีการเปิดเผยผลการศึกษา และร่างผังของเขตส่งเสริมที่จะขอรับการสนับสนุน
“ผมขอเรียนชี้แจงถึงกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิประโยชน์ของการเช่าที่ดินในเขตพื้นที่อีอีซีไม่ใช่ 99 ปี แต่สัญญาครั้งแรกไม่เกิน 50 ปี และขยายได้ตามความตกลงอีกไม่เกิน 49 ปี เหมือนกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และเป็นไปตามกฎหมายที่ปฏิบัติในปัจจุบัน ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์และการพาณิชย์ พ.ศ. 2542 ซึ่งการให้สิทธิการเช่าที่ดินในระยะยาวเป็นสิ่งที่หลายประเทศได้ดำเนินการเป็นปกติ 50 ปี สามารถขยายได้ 49 ปี เช่น ประเทศมาเลเซียให้เช่าที่ดินได้ 60 ปี ขยายรวมได้ไม่เกิน 99 ปี แต่ทั้งนี้ การให้ระยะเวลานานเท่าใดขึ้นอยู่กับแต่ละผลการศึกษาของแต่ละโครงการควรจะได้เท่าใดจึงจะเหมาะสม” นายอุตตมกล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลตระหนักดีว่าต้องดูแลในเรื่องของสิทธิประโยชน์ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และจะไม่มีการต่ออายุการเช่าที่ดินโดยอัตโนมัติหลังหมดระยะเวลาการเช่าที่ดินครั้งแรก ทุกโครงการจะต้องทำการศึกษาและตรงตามเงื่อนไขที่ทางคณะกรรมการบริหาร EEC กำหนด เช่น จำนวนเงินลงทุน การจ้างงาน และสร้างประโยชน์ให้แก่โครงการอย่างไร