กฟผ.ลุ้นผลสรุป คสช. 28 เมษายนนี้ว่าจะกำหนดให้เดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่หรือไม่ หากสรุปให้ยุติพร้อมดำเนินการ แต่หากให้เดินหน้าต้องให้ สผ.ชี้ชัดเจนถึงกระบวนการทำ EIA และ EHIA ว่าจะให้ทำอย่างไร เหตุที่ผ่านมาทำแล้วยังไม่ผ่านยังต้องเริ่มต้นใหม่
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า วันที่ 28 เม.ย.นี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสรุปผลการจัดเวทีสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ในวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมาพร้อมกัน 3 เวที ใน จ.กระบี่ สุราษฎร์ธานี และสงขลา ซึ่งที่สุด คสช.สรุปว่าไม่เดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ กฟผ.ก็พร้อมทำตามนโยบายภาครัฐโดยพร้อมจะยุติโครงการทันที แต่หากให้เดินหน้าต่อไป กฟผ.ก็จะทำตามนโยบายของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
“กฟผ.ได้ทำหนังสือไปยัง สผ.เมื่อช่วงต้น เม.ย.เพื่อขอคำตอบให้ชัดเจนว่าจะให้กระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว และการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์อย่างไร เพราะที่ผ่านมาก็ทำไปหมดแล้วยังกลับไม่ผ่าน ดังนั้นถ้า สผ.ยังไม่มีคำตอบก็คงจะยังไม่สามารถเดินหน้ากระบวนการประมูลว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทำ EIA และ EHIA เช่นกัน” ผู้ว่าฯ กฟผ.กล่าว
ทั้งนี้ หากที่สุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่เกิดขึ้นไม่ได้คาดว่ากระทรวงพลังงานจะพิจารณาแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่อื่นแทน หรืออาจพิจารณาแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่ กฟผ.ได้เสนอแผนการศึกษาความเหมาะสมไปแล้วใน 4 พื้นที่ คือ จ.สุราษฎร์ธานี จ.สงขลา อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ตรัง ซึ่งความเป็นไปได้มากที่สุดคือการสร้างโรงไฟฟ้าแอลเอ็นจีใน อ.ทับสะแก เพราะ กฟผ.มีที่ดินอยู่แล้ว และติดริมทะเลน้ำลึกสามารถสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ ขณะเดียวกันก็ลงทุนปรับปรุงระบบสายส่ง 500 KV วงจร 2 จากบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปยัง จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ภูเก็ต 800 กม. เพื่อเพิ่มความมั่นคงแต่ก็ยังคงเสี่ยงกับอุบัติเหตุสายส่ง
ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา เฟส 1 ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา EIA และ EHIA ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) คาดว่าจะผ่านการอนุมัติในเดือน พ.ค.นี้ แต่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าอาจล่าช้าออกไปจากแผนราว 2 ปี จากเดิมคาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เนื่องจากยังมีขั้นตอนพิจารณาอื่นๆ ก่อนขอการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีก 18-24 เดือน อีกทั้งยังติดปัญหาเวนคืนที่ดินและที่ดินมีราคาสูง ซึ่งต้องใช้เวลาในการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เวนคืนที่ดินอีก 1 ปี