xs
xsm
sm
md
lg

พพ.โชว์ 450 อาคารเข้าร่วมออกแบบอนุรักษ์พลังงานตามเกณฑ์ BEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พพ.โชว์แผนอนุรักษ์พลังงานตามกฎกระทรวง มีอาคารภาครัฐ-เอกชน 450 อาคารเข้าร่วมแล้ว สามารถประหยัดพลังงานกว่า 225 ล้านหน่วย ประหยัดค่าไฟได้สูงถึง 780 ล้านบาท จับมือกรมโยธาธิการ ปรับปรุงกฎกระทรวง ขยายผลบังคับใช้ไปเพื่อตรวจสอบอาคารที่ได้รับใบรับรองแล้ว


นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคารและมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน 2552 หรือ Building Energy Code (BEC) โดยร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมบังคับใช้ใน 9 ประเภทอาคาร ได้แก่ สถานพยาบาล สถานศึกษา สำนักงาน อาคารชุด อาคารชุมนุมคน (หอประชุม) โรงมหรสพ โรงแรม อาคารสถานบริการ และอาคารศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้า จะ ต้องออกแบบอาคารภายใต้เกณฑ์ BEC ดังกล่าวโดยจะนำร่องกับอาคารขนาดใหญ่พื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตร.ม.ขึ้นไปก่อนในต้นปี 2561 และทยอยบังคับใช้กับอาคารพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตร.ม.ภายในปี 2562 และตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา พพ.ได้ผลักดันให้มีการออกแบบอาคารเพื่ออนุรักษ์พลังงานตามเจตนารมณ์ของกฏหมายดังกล่าวจึงได้นำร่องให้อาคารใหม่ที่มีขนาดตั้งแต่ 2000 ตร.ม.ขึ้นไปจะต้องมีการออกแบบและก่อสร้างอาคารภายใต้เกณฑ์ BEC ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 450 อาคาร

“เราได้ขอความร่วมมือให้อาคารรัฐและเอกชนส่งแบบอาคารมาให้ พพ.ตรวจประเมินเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ BEC ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบันแล้ว 450 อาคารโดยเป็นอาคารใหม่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไปแบ่งเป็นอาคารรัฐ 378 อาคารอาคารเอกชน 72 อาคาร ส่งผลให้เกิดการประหยัดไฟฟ้าได้สูงถึงประมาณ 225 ล้านหน่วย คิดเป็นผลประหยัดได้ 780 ล้านบาท รวมทั้งยังได้ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาโลกร้อนได้สูงถึง 1.3 แสนตันคาร์บอนอีกด้วย” นายประพนธ์กล่าว

ทั้งนี้ พพ.ได้เตรียมแผนงานเพื่อผลักดันมาตรการต่างๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายที่มีการบังคับใช้ ได้ร่วมมือกับกรมโยธาธิการและผังเมืองในการแก้ไขกฎกระทรวง พร้อมกับการเข้าไปดำเนินการตรวจสอบสภาพอาคารที่ได้รับการตรวจประเมิน และที่ได้รับใบรับรองแล้ว เพื่อติดตามสถานภาพการก่อสร้างว่าเป็นไปตามเงื่อนไขการรับรองหรือไม่ รวมทั้งจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการนำองค์ความรู้ด้านการออกแบบอาคารประหยัดพลังงานไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในการเรียนการสนอบของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์อีกด้วย ปัจจุบันได้นำร่องไปแล้ว 6 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น