xs
xsm
sm
md
lg

“กนอ.” ปั้นโรงงานมาตรฐานเฟส 2 รับเบอร์ซิตี้ หลัง SMEs แห่ลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กนอ.ปลื้มโรงงานมาตรฐานภายใต้โครงการ “กนอ.สานพลังประชารัฐ ยกระดับ SMEs ยางไทยก้าวไกลในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา” ตามแนวนโยบายประชารัฐ ในระยะที่ 1 เนื้อหอม SMEs ยางไทยเข้าประกอบกิจการเต็มพื้นที่แล้ว เตรียมเปิดโรงงานมาตรฐาน ระยะที่ 2 เพิ่มอีก 4 ยูนิต จำนวน 2,500 ตารางเมตร รองรับอุตสาหกรรมยางขั้นกลางน้ำ-ปลายน้ำต่อเนื่อง คาดว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้ผู้ประกอบการเข้าใช้พื้นที่ทันที พ.ค. 2560 นี้

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.เดินหน้าขับเคลื่อนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภายใต้นโยบายสานพลัง ประชารัฐ โดยจัดกิจกรรมโครงการ “กนอ.สานพลังประชารัฐ ยกระดับ SME ยางไทยก้าวไกลในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา” ซึ่ง กนอ.ได้ให้การสนับสนุนโครงการประชารัฐในการจัดพื้นที่สร้างเป็นอาคารโรงงานมาตรฐานที่มีขนาดแตกต่างกัน จำนวน 21 ยูนิต บนพื้นที่ 25 ไร่ เพื่อรองรับผู้ประกอบการ SMEs ยางไทยที่ผ่านกระบวนการบ่มเพาะหรือผ่านการอบรมด้านวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เข้ามาสู่กระบวนการผลิตที่จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมยางพาราไทย ซึ่งการพัฒนาอาคารโรงงานมาตรฐานระยะที่ 1 ได้สนับสนุนจำนวน 3 ยูนิต พื้นที่ประมาณ 1,500 ตารางเมตร มีผู้ประกอบการ SMEs ยาง จำนวน 3 ราย ดำเนินธุรกิจอยู่ในกลุ่มยางคอมพาวด์ หมอนยางพารา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ กรวยยางจราจร เป็นต้น

สำหรับการพัฒนาอาคารโรงงานมาตรฐาน ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพิ่มอีก จำนวน 4 ยูนิต บนพื้นที่รวมทั้งหมด 2,500 ตารางเมตร มีผู้ประกอบการได้จองเช่าพื้นที่และมีพร้อมเข้าประกอบกิจการจำนวน 4 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการกลุ่มยางคอมพาวด์/ผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูป หมอนยางพารา และอื่นๆ ทั้งนี้ การก่อสร้างโรงงานมาตรฐานดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค. 2560 ที่จะถึงนี้

“ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ยางที่สนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่โรงงานมาตรฐานดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราขั้นกลางน้ำ และปลายน้ำ เช่น ยางคอมพาวด์ หมอนยางพารา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ยางรองส้นรองเท้า ที่บริหารมือ และกรวยยางพารา เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าโครงการนิคมฯ ยางพาราช่วยส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรที่ปลูกยางเข้าสู่ภาคการผลิต เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมยางไทย” นายวีรพงศ์กล่าว

นายกิตติธัช ณวาโย เกษตรกรสวนยางพาราในพื้นที่จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ภายหลังจากโครงการนิคมฯ ยางพาราเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม รวมถึงการเปิดโรงงานมาตรฐานสำเร็จรูป ส่งผลให้วันนี้ภาคเกษตรกรชาวสวนยางพาราสามารถเข้ามามีส่วนรวมในการพัฒนาการแปรรูปยางพารา จากเดิมขายเพียงน้ำยางพาราเท่านั้น จึงถือว่าเป็นความหวังที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางพารามีคุณภาพชีวิต มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น