xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอเปิดช่องธุรกิจไทย ถกรัฐและเอกชนยูกันดาหวังหาลู่ทางลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บีโอไอเตรียมจัดประชุมนักธุรกิจไทยหารือภาครัฐและเอกชนจากยูกันดา 7 เม.ย.นี้ หวังเปิดช่องทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น หนุนคนไทยลงทุนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาหารสัตว์ เครื่องหนัง พลาสติก เพื่อขยายตลาดสินค้าไทยในประเทศประชาคมแอฟริกาและกลุ่มตลาดร่วมแอฟริกาตะวันออกและใต้

นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า วันที่ 7 เมษายนนี้บีโอไอจะจัดการประชุมหารือร่วมกันระหว่างนักธุรกิจไทยกับตัวแทนภาครัฐและเอกชนจากประเทศยูกันดา นำโดยนางบาร์บาร่า มัลวาน่า กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำยูกันดา และกรรมการสมาคมผู้ผลิตแห่งยูกันดา นางโพรซี่ โฮป เอ็น คิคาบี เจ้าหน้าที่อาวุโสหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนแห่งยูกันดา ในโอกาสที่ทั้งสองคนเดินทางมาเยือนประเทศไทย และพร้อมจะให้ข้อมูลโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับยูกันดา ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อนักธุรกิจไทยที่สนใจและอยู่ระหว่างตัดสินใจเข้าไปทำธุรกิจในอนาคต

ทั้งนี้ ยูกันดาเป็นหนึ่งในประเทศตลาดใหม่ในทวีปแอฟริกา และประเทศเป้าหมายที่บีโอไอเล็งเห็นถึงความสำคัญและส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยพิจารณาถึงโอกาสและทางเลือกใหม่ๆ ที่จะเข้าไปลงทุน เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และแรงงาน ประกอบกับยูกันดาเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกที่น่าสนใจ เนื่องจากมีอาณาเขตติดต่อกับ 5 ประเทศ ได้แก่ เคนยา คองโก รวันดา ซูดานใต้ และแทนซาเนีย รวมถึงได้สิทธิปลอดภาษีสำหรับสินค้าที่ผลิตในยูกันดาส่งออกไปยังกลุ่มประชาคมแอฟริกาตะวันออก ซึ่งมีสมาชิกถึง 6 ประเทศ ประชากรรวมกว่า 165 ล้านคน และกลุ่มตลาดร่วมแอฟริกาตะวันออกและใต้ มีสมาชิก 19 ประเทศ ประชากรรวม 480 คน

สำหรับอุตสาหกรรมน่าสนใจที่ภาคเอกชนไทยเข้าไปลงทุน ได้แก่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด การผลิตอาหารสัตว์น้ำ เนื่องจากยูกันดามีพื้นที่ที่เป็นแม่น้ำและทะเลสาบถึงร้อยละ 18 ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ยังขาดความรู้และเทคนิคดำเนินการอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังมีโอกาสสำหรับการผลิตเครื่องหนัง สินค้าอุปโภคประเภทพลาสติกที่ตลาดยังสามารถเติบโตได้ดี อย่างไรก็ตาม การเข้าไปดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลรายละเอียดด้านต่างๆ รวมถึงปัญหาและอุปสรรค โดยมั่นใจว่าการพบปะและรับฟังข้อมูลโดยตรงจากผู้แทนของยูกันดาครั้งนี้จะทำให้นักธุรกิจไทยตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น