“กบง.” เคาะไม่ลดราคาขายปลีก LPG เดือน เม.ย. ตรึงราคาคงเดิมที่ 20.96 บาท/กก. แม้ต้นทุนลดลง 2.91 บาท/กก. เหตุกองทุนน้ำมันฯ ยังชดเชยราคา LPG สูงถึง 6.63 บาท/กก. จึงเลือกดึงเงินเข้ากองทุนฯ ด้วยการลดอัตราชดเชยลงแทนเพื่อไว้ดูแลราคาในระยะยาว
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 3 เมษายนได้มีการพิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซ LPG เดือนเมษายน 2560 โดยที่ประชุมได้เห็นชอบตรึงราคาขายปลีกเดือนเมษายน 2560 ไว้คงเดิมที่ 20.96 บาท/กิโลกรัม (กก.) แม้ว่าภาพรวมราคาควรจะลดลง 2.9139 บาท/กก. แต่เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังต้องชดเชยราคาอยู่6.6336 บาท/กก. จึงลดชดเชยเป็น 3.7197 บาท/กก.
“เพื่อเตรียมการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG เต็มรูปแบบในอนาคต ที่ประชุม กบง.จึงเห็นควรให้คงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนเมษายน 2560 ไว้ที่ 20.96 บาท/กก. โดยปรับลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลง 2.9139 บาท/กก. จากเดิมกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยที่ 6.6336 บาท/กก. เป็นชดเชยที่ 3.7197 บาท/กก. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน” นายทวารัฐกล่าว
สำหรับราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนเมษายน 2560 ได้ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 80 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ระดับ 460 เหรียญสหรัฐ/ตัน ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนมีนาคม 2560 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.1217 บาท/เหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 35.0676 บาท/เหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG ปรับลดลง 2.9139 บาท/กก. จาก 20.5787 บาท/กก. เป็น 17.6648 บาท/กก.
ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของก๊าซ LPG มีรายจ่ายลดลงจากเดือนก่อนประมาณ 322 ล้านบาท จากเดิมมีรายจ่ายอยู่ที่ 444 ล้านบาท/เดือน ลดลงเหลือ 121 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 2 เมษายน 2560 อยู่ที่ 40,155 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 6,514 ล้านบาท และ 2) ในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 33,641 ล้านบาท
นอกจากนี้ กบง.ยังได้รับทราบรายงานสรุปการดำเนินงานในช่วงที่มีการปิดซ่อมประจำปีของแหล่งจ่ายก๊าซฯ ยาดานา (Yadana) ฝั่งตะวันตก ประเทศพม่า โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยว่า ตามแผนการปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ดังกล่าว ได้กำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม-2 เมษายน 2560 เวลา 24.00 น. รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 9 วัน แต่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2560 เวลา 08.46 น. พบว่าการซ่อมบำรุงแล้วเสร็จ โดยผู้ผลิตแหล่งก๊าซฯ พม่าทุกแหล่งสามารถดำเนินการจ่ายก๊าซฯ กลับเข้าสู่ระบบได้ตามปกติ ซึ่งเร็วกว่าแผนประมาณ 1 วัน
ขณะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รายงานการคาดการณ์พลังงานไฟฟ้าไว้ที่ 603 GWh แต่เกิดขึ้นจริง 552.2 GWh ต่ำกว่าที่คาดการณ์ 50.8 GWh สืบเนื่องจากผลของพายุฤดูร้อนที่เกิดตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม 2560 ต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ทำให้อุณหภูมิลดลงมาอยู่ในระดับเฉลี่ย 33-34 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ประมาณการการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (Peak) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 28,250 เมกะวัตต์ มีค่าที่เกิดขึ้นจริงในระบบของ กฟผ.อยู่ที่ระดับ 26,220 เมกะวัตต์ น้อยกว่าคาดการณ์ไว้ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ และค่าที่เกิดขึ้นจริงในระบบของทั้ง 3 การไฟฟ้าอยู่ที่ระดับ 27,051 เมกะวัตต์