xs
xsm
sm
md
lg

“สศอ.” มั่นใจ MPI ไตรมาสแรกขยายตัว ชี้สัญญาณ ศก.ฟื้นตัวแกร่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สศอ.” มั่นใจดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสแรกปีนี้จะเติบโต แม้ดัชนีฯ เดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ระดับ 110.54 ลดลง 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 112.22 เหตุโรงกลั่นหยุดซ่อมบำรุง จับตาภัยแล้งใกล้ชิด
 
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มี.ค. 2560 จะกลับมาเป็นบวกจากทิศทางการส่งออกที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้มองภาพรวม MPI ไตรมาส 1/2560 จะปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีค่าดัชนีฯ ติดลบ และคาดว่า MPI ปี 2560 จะโต 0.5-1% ขณะที่จีดีพีภาคอุตสาหกรรมคงอยู่ที่ 1-2% ตามที่คาดการณ์ไว้แน่นอน

“คงจะต้องมาดูครึ่งปีว่าควรจะปรับตัวเลขหรือไม่ แต่ที่ดูมีความมั่นใจว่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์หรืออาจจะไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้นมากกว่าลดลง” นายวีรศักดิ์กล่าว

สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ระดับ 110.54 ลดลง 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 112.22 ซึ่งเป็นการลดลงในรอบ 7 เดือน จากเดือน ก.ค. 2559 อยู่ที่ระดับ 105.23 มีอัตราลดลง 3.26% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 60.10% จากเดือนก่อน 60.67% ทั้งนี้ เป็นผลจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันประจำปีเป็นหลัก ส่งผลให้การผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.16% และลดลงจากเดือนก่อน 24.32%

นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งยังเป็นผลจากอุตสาหกรรมรถยนต์ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.34% เนื่องจากภาพรวมการส่งออกรถยนต์ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.18% อยู่ที่ 98,237 คัน โดยเป็นการลดลงของกลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลางที่เป็นตลาดส่งออกหลัง 10.82%

“ดัชนี MPI เดือน ก.พ.ลดลง แต่สัญญาณเดือนต่อไปน่าจะเริ่มดีขึ้นเนื่องจากภาพรวมอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ไม่รวมทองคำแท่งขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.2% โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นห่วงสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร แต่เชื่อว่าสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ไม่น่ามีผลกระทบมากเท่าปี 2559 ที่ผ่านมา เพราะจากการติดตามสถานการณ์ของกรมชลประทานรายงานว่าพบปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งเก็บน้ำหลักยังเพียงพอต่อความต้องการใช้ในภาคเกษตรปีนี้ แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ในระยะต่อไปอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น