จับตา “กลุ่มกัลฟ์ฯ” ผงาดหลังบอร์ดบีโอไออนุมัติให้การส่งเสริมกิจการไอพีพี 5,000 เมกะวัตต์ เตรียมเดินหน้าตามแผนงาน พร้อมจ่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคตเพิ่มบทบาททำธุรกิจพลังงานครบวงจร กฟผ.พร้อมสายส่งรองรับเฟสแรก
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการไอพีพีของกลุมกัลฟ์ฯ ที่ชนะการประมูลขายไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 โครงการ ลงทุนรวมกว่า 1.1 แสนล้านบาท ว่า เบื้องต้นทางบริษัทฯ ได้รายงานว่าจะเดินหน้าพัฒนาโครงการให้เป็นไปตามแผนการรับซื้อที่บริษัทได้มีการลงนามซื้อขายไฟ หรือ PPA กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปแล้ว เพื่อทยอยจ่ายไฟตั้งแต่ปี 2564-69 ซึ่งจากนี้จะมีกระบวนการต่างๆ เพื่อก่อสร้างและการเงินที่เตรียมลงนามขอรับสนับสนุนเงินกู้ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ซึ่งทางกัลฟ์ฯ ยืนยันว่าจะทำให้ต้นทุนต่ำ
ขณะเดียวกัน กัลฟ์ฯ สนใจนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ผ่านระบบท่อของ บมจ.ปตท.ที่ได้เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้ร่วมได้ ดังนั้น อนาคตบริษัทกัลฟ์เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด จะเตรียมตัวเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป และมีเป้าหมายที่จะเป็นบริษัทดำเนินธุรกิจพลังงานครบวงจรจากเดิมเป็นเพียงบริษัทที่ดำเนินธุรกิจกิจการไฟฟ้าอย่างเดียว
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ขั้นตอนของการดำเนินงานพัฒนาของกลุ่มกัลฟ์ฯ ยังคงเป็นไปตามแผนงานที่จะต้องขายไฟเข้าระบบตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ได้ลงนามไปแล้ว ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เองก็ได้ดำเนินงานสร้างสายส่งรองรับโครงการดังกล่าว ซึ่ง กกพ.ได้อนุมัติดำเนินงานแล้ว
“ขั้นตอนในเรื่องของสายส่งนั้น กกพ.เองได้อนุมัติให้ กฟผ.ดำเนินการแล้ว โดยในส่วนของ กฟผ.เองก็ต้องเสนอบอร์ด กฟผ. เสนอกระทรวงพลังงานเพื่อให้ ครม.อนุมัติดำเนินการ และการก่อสร้างก็ต้องเป็นไปตามกำหนดให้รองรับไอพีพีดังกล่าวได้ทันเวลา ไม่เช่นนั้น กฟผ.ก็อาจถูกปรับได้ถ้าสร้างไม่ทัน” นายวีระพลกล่าว
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า กฟผ.ได้เดินหน้าแผนก่อสร้างสายส่งรองรับโรงไฟฟ้าภาคตะวันออกของเครือกัลฟ์ มีมูลค่าอยู่ที่ 7,250 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสำรวจพื้นที่และออกแบบโครงการสายส่งระยะที่1 คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี หรือเสร็จสิ้นปลายปี 2560 และจะเริ่มออกหลักเกณฑ์เงื่อนไข(TOR) เพื่อเปิดประมูลหาผู้รับเหมาโครงการได้ช่วงต้นปี 2561 เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าในยูนิตแรก 2,500 เมกะวัตต์