xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานพร้อมทำตามมติ “ครม.” หากเห็นชอบตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงพลังงานออกโรงชี้แจงพร้อมดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี หากเห็นชอบผลการศึกษาการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติซึ่งโยนให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ศึกษา

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ชี้แจงกรณีที่ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ แถลงข่าว พร้อมเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง สนช. ระบุมีเรื่องไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ในวาระ 2 และ 3 ซึ่ง สนช.จะพิจารณาในวันที่ 30 มี.ค. 2560 ว่า กระทรวงพลังงานได้ทบทวนพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในการคัดค้านการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (รอบที่ 21) ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 โดยได้ยกร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับตามลำดับและหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. ยกร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฯ โดยเพิ่มทางเลือกให้รัฐบาลสามารถพิจารณานำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม นอกเหนือจากระบบสัมปทานปิโตรเลียมภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบัน สำหรับร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียมฯ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดอัตราและหลักเกณฑ์ในการคำนวณภาษีเงินได้ปิโตรเลียมให้สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินการของระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต

2. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับได้มีการเสนอให้ศึกษาให้มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ

3. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจแล้ว และให้รองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนำร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับรวมทั้งคำอธิบายและคำชี้แจงของกระทรวงพลังงานไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก่อนนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

4. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติให้รองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปชี้แจงทำความเข้าใจต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สนช. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) เกี่ยวกับเหตุผลและความจำเป็นในการแก้ไขแผนพลังงานของประเทศ และในประเด็นที่ยังมีข้อขัดแย้งในสังคม และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับไปปรับแก้ไขตามข้อสังเกตของรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ในประเด็นการเพิ่มระบบสัญญาจ้างผลิต (service contract) และการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในช่วงนี้ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ได้พ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2558

5. เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยมีการเพิ่มระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตและระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิตนอกเหนือจากระบบสัมปทาน และนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสำหรับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ในการศึกษาผลกระทบ ข้อดี ข้อเสีย และแนวทางการดำเนินการให้ละเอียดรอบคอบเสียก่อน พร้อมกับประเด็นที่ไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติม และหากผลการศึกษาเห็นสมควรให้ปรับปรุงตามประเด็นที่ สนช.เสนอก็ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบและส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป

6. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ปนช.) นำผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ขอแก้ไขนอกหลักการ และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอที่ประชุม ครม. และ ครม.มีมติ

7. รับทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สนช. เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับ และรับทราบความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 2) เห็นชอบข้อสังเกตของคณะกรรมการ ปนช. เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ สำหรับเรื่องที่ให้มีการบัญญัติเรื่องบรรษัทพลังงานแห่งชาติ (NOC) ไว้ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ให้มีการศึกษาและมีการจัดตั้งเมื่อมีความพร้อม โดยมอบหมายให้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวิทย์ เมษินทรีย์) รับข้อสังเกตไปประสานงานกับคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

8. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ครม. มีมติให้ปรับถ้อยคำในมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นข้อความดังนี้ “...เห็นชอบให้มีการจัดตั้ง NOC เมื่อมีความพร้อมโดยให้บัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้งนี้ ให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีดำเนินการจัดตั้งหลังจากร่าง พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับแล้ว” โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวิทย์ เมษินทรีย์) รับข้อสังเกตไปประสานงานกับคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

“ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลการศึกษาการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ดังนั้น เพื่อความเหมาะสมจึงขอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว หากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการศึกษาก็พร้อมดำเนินการ” นายวีระศักดิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น