xs
xsm
sm
md
lg

เบทาโกรรุกตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตจากโปรตีนคุณภาพ เอาใจน้องหมาเบื่ออาหาร สร้างภูมิต้านทานโรค สุขภาพดีในระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เบทาโกรเปิดโรงงานใหม่ ขยายกำลังการผลิตอาหารสุนัขและแมว ด้วยวัตถุดิบจากโปรตีนคุณภาพ เทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในอาเซียน ด้วยกระบวนการผลิตตามนโยบายด้านคุณภาพ (Quality) และความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) มาตรฐานสากลเทียบเท่าโรงงานผลิตอาหารของคน (Food Grade) รองรับลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ ตั้งเป้าโต 60%

เครือเบทาโกรจัดงาน Grand Opening โรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง บริษัท เพ็ท โฟกัส จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเต็มรูปแบบแห่งแรกของเครือฯ ณ ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดยมี นายสัตวแพทย์ ยุคล ลิ้มแหลมทอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ผู้บริหารเครือเบทาโกร อาทิ ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานกรรมการ ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติจากส่วนราชการต่างๆ คู่ค้า ลูกค้า เดินทางมาร่วมงานกันอย่างอบอุ่น

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร กล่าวว่า ปัจจุบันคนเลี้ยงสัตว์เลี้ยงด้วยความรักและผูกพันเสมือนสมาชิกในครอบครัว จึงเป็นโอกาสของเบทาโกรในการขยายกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงคุณภาพสำหรับลูกค้าที่มีความพิถีพิถันมากขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงแบบอาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ดอยู่ที่ประมาณ 14,800 ตันต่อเดือน และใช้สำหรับส่งออกอีกประมาณ 25,000 ตันต่อเดือน มีมูลค่าตลาดรวมเฉพาะอาหารสุนัขและแมวอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท เครือเบทาโกรจัดเป็น 1 ใน 5 ของผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ของประเทศ ในปีที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายได้สูงกว่าเป้าหมาย มีการเติบโตกว่า 20% ในขณะที่ปีนี้ตั้งเป้าเติบโตถึง 60% ซึ่งมากกว่าอัตราการเติบโตรวมของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศที่โตเพียง 10-15%

“เราให้ความสำคัญต่อคำว่า คุณภาพชีวิตที่ดี ของทุกชีวิตที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งหมายรวมถึงสุนัขและแมวที่เปรียบได้กับสมาชิกในครอบครัว อาหารสำหรับน้องหมา น้องแมว จึงควบคุมคุณภาพการผลิตในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบคุณภาพ โดยเฉพาะโปรตีนชั้นดีจากเนื้อสัตว์เพื่อคุณค่าทางโภชนาการ ช่วยให้สัตว์เลี้ยงสามารถดูดซึมไปใช้ได้ดีกว่า สร้างภูมิต้านทานโรค ขนเงางาม มีสุขภาพดีในระยะยาว และทำให้รสชาติอร่อย มีความน่ากินเพิ่มขึ้น

ด้านกระบวนการผลิต มีระบบควบคุมอุณหภูมิการจัดเก็บและการขนส่ง (Cold Chain Management) เนื้อสัตว์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ตั้งแต่โรงงานแปรรูปมาสู่ห้องเย็นในโรงงาน เพื่อคงคุณค่าความสด สะอาด ปลอดภัย ที่สำคัญ ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โรงงานมีการออกแบบพื้นที่การผลิตตามหลักการ

ออกแบบทางวิศวกรรมอาหารเพื่อความสะอาดและปลอดภัย (Hygienic Design) กำหนดให้เป็น Low Care Area และ High Care Area แยกออกจากกันอย่างชัดเจน ทั้งประตูทางเข้า-ออก พื้นที่ผลิต และพนักงานซึ่งต้องเปลี่ยนชุดเครื่องแบบ อุปกรณ์ต่างๆ ก่อนผ่านเข้าสู่พื้นที่ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้ามของเชื้อจุลินทรีย์ (Cross Contamination) มาตรฐานสากลเทียบเท่าโรงงานผลิตอาหารของคน (Food Grade)” นายวสิษฐกล่าว

นอกจากนี้ เบทาโกรยังมีแผนที่จะปรับปรุงผลิตภัณฑ์และออกสินค้าใหม่ที่หลากหลาย เพื่อให้ตรงต่อความต้องการของตลาดที่เน้นสินค้าสุขภาพและรสชาติอร่อยสำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งเบทาโกรมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทดสอบความน่ากินก่อนสินค้าออกสู่ตลาด เพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้า และการเข้าถึงลูกค้า ผู้บริโภคผ่านโซเชียลมีเดีย ทาง Application “PET ENJOY”

สำหรับโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแห่งใหม่นี้ใช้งบลงทุน 1,200 ล้านบาท มีพื้นที่ 46 ไร่ กำลังผลิต 11,200 ตันต่อเดือน โดยในเฟสแรกเริ่มที่ 4,000 ตันต่อเดือน ผลิตอาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ด (Dry Pet Food) และขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยง (Pet Snack) สุนัขและแมว ภายใต้แบรนด์ ด็อก เอ็นจอย (Dog’n joy) แค็ท เอ็นจอย (Cat’n joy) เพอร์เฟคต้า (Perfecta) และบิงโกสตาร์ (Bingo Star) เพื่อจำหน่ายในประเทศให้กับร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง (Pet Shop) คลินิก/โรงพยาบาลสัตว์ (Vet Clinic) โมเดิร์นเทรด (Modern Trade) ลูกค้าฟาร์มสัตว์เลี้ยง (Pet Farm) และรับจ้างผลิต รวมถึงส่งออกไปขายในยุโรป ญี่ปุ่น ประเทศในกลุ่ม AEC ฯลฯ ใช้ระบบบริหารคุณภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ได้แก่ ระบบ BRC มาตรฐานของยุโรป, GMP, HACCP, ISO9001: 2015, ISO14001: 2015, OHSAS18001: 2007 เป็นบริษัทลำดับแรกๆ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Sushi Berish สามารถส่งออกไปขายในกลุ่มประเทศมุสลิมได้ รวมถึงเป็น 1 ใน 4 ของผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่ได้รับเครื่องหมาย ไทยแลนด์ ทรัสต์ มาร์ก จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์


กำลังโหลดความคิดเห็น