“กกพ.” เผยทิศทางค่าไฟงวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค. 60) จ่อขยับขึ้นแน่นอน! แต่มีปัจจัยบวกที่ทำให้ลุ้นขยับไม่มากจากบาทที่แข็งค่ากว่าที่คาดไว้ รวมถึงการใช้ไฟที่ไม่ได้สูงมาก ขณะที่พลังงานทดแทนดันต้นทุนค่าไฟปีนี้พุ่งกว่า 21 สต./หน่วย พร้อมแนะประชาชนโหลด Application ติดตามใช้ไฟสูงสุดแบบ Real Time ในชื่อ ERC Thailand บนมือถือทั้งระบบ Android iOS
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กลางเดือนเมษายนนี้ กกพ.จะมีการคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) เพื่อพิจารณาเรียกเก็บในบิลค่าไฟประชาชนงวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค. 60) ซึ่งยอมรับว่ามีปัจจัยบวกจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิม ขณะเดียวกัน การใช้ไฟฟ้าภาพรวมคาดว่าจะต่ำกว่าคาดไว้เช่นกันทำให้ไม่ต้องเดินเครื่องที่ใช้น้ำมันเตาหรือดีเซลเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ต้นทุนหลักอยู่ที่ราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟหลักสูตรที่อิงราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือนเป็นช่วงขาขึ้น ภาพรวมค่า Ft งวดถัดไปจึงยังเป็นแนวโน้มขาขึ้นมากกว่า
“Ft งวด ม.ค.-เม.ย. 60 อยู่ที่ -37.29 สตางค์ต่อหน่วย ลดลงจากงวด ก.ย.-ธ.ค. 59 จำนวน 4 สตางค์ต่อหน่วย งวดนี้จากที่คำนวณไว้เดิมค่อนข้างจะปรับสูงขึ้นพอสมควรแต่ล่าสุดมีปัจจัยบวกหลายอย่างที่ดีกว่าคาดการณ์แต่ทิศทางยังคงปรับขึ้น โดยในส่วนของพลังงานทดแทนยอมรับว่าปีที่ผ่านมามีผลต่อค่า Ft เพิ่มขึ้น 21 สตางค์ต่อหน่วย แต่ปีนี้คาดว่าพลังงานทดแทนที่เข้าระบบเพิ่มมากขึ้นจะมีผลกระทบต่อ Ft สูงขึ้นกว่า 21 สตางค์ต่อหน่วย แต่เท่าใดคงต้องรอคำนวณอีกครั้ง” นายวีระพลกล่าว
ทั้งนี้ เร็วๆ นี้ กกพ.จะทำหนังสือส่งไปยังผู้ผลิตไฟขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่เป็นพลังงานหมุนเวียนเพื่อขอความร่วมมือให้ส่งข้อมูลการผลิตไฟแบบ Real Time เพื่อให้ กกพ.รวบรวมข้อมูลนำมาประกอบจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟและวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศโดยเฉพาะความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ไฟที่เกิดขึ้นช่วงหน้าร้อนให้แม่นยำยิ่งขึ้น โดยสามารถติดตาม System Peak ปี 2560 ผ่าน Application บนมือถือทั้งระบบ Android ระบบ iOS ในชื่อ ERC Thailand ได้ตั้งแต่ 21 มี.ค.นี้เป็นต้นไป
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า พีกของประเทศปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 32,059 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1,086 เมกะวัตต์ หรือ 3.5% คาดว่าพีกจะเกิดช่วงปลายเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ โดยคาดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ระดับ 37.6 องศาเซียลเซียส สูงสุด 40 องศาฯ อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม-2 เมษายน 2560 จะมีการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติ คือ แหล่งยาดานา ประเทศพม่า ทำให้หายไป 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งผลกระทบค่าไฟ 6,400 เมกะวัตต์ ดังนั้นช่วง 9 วันจึงต้องขอความร่วมมือกับประชาชนในการลดใช้พลังงานเพราะอาจเป็นช่วงตรงกับพีก
“กระทรงพลังงานได้ประสาน 3 การไฟฟ้า และ บมจ.ปตท. เตรียมพร้อมน้ำมันเตา 102 ล้านลิตร ดีเซล 14 ล้านลิตร เพื่อผลิตไฟช่วงก๊าซหยุดจ่าย และ กกพ.เองก็ดำเนินมาตรการ Demand Response หรือ DR ดึงภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการลดใช้ไฟ โดยจะได้รับเงินชดเชย 3 บาทต่อหน่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ ราชบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร 400 เมกะวัตต์” นายทวารัฐกล่าว
นายเริงชัย คงทอง ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า พีกเฉพาะของ กฟผ.ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 30,086 เมกะวัตต์ หรือโตจากปีก่อน 1.6% โดยการหยุดซ่อมแหล่งก๊าซฯ 25 มี.ค.-2 เม.ย.ได้เตรียมแผนรับมือไว้แล้ว มั่นใจว่าจะดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าได้