ประเทศสหรัฐเม็กซิโก นับว่ามีพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทยถึง 4 เท่า มีพลเมือง มากกว่าไทยเกือบ 2 เท่า แถมยังมี ศักยภาพด้านปิโตรเลียมสูงมากกว่าไทย แถมยังเป็นประเทศที่มีการส่งออกน้ำมันดิบถึง 1 ใน 4 ของโลก
"กระบังลม"ได้มีโอกาสไปเยือนประเทศเม็กซิโก เพื่อศึกษาดูงานด้านการปฏิรูปพลังงาน ซึ่งได้มีการอธิบายจากหน่วยงานด้านกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ของแม็กซิโกว่า เมื่อแปดสิบปีก่อน เม็กซิโกได้มีการปฏิวัติและรัฐได้ยึดคืนกิจการพลังงานจากบริษัทน้ำมันต่างชาติที่เข้ามาดำเนินกิจการมาเป็นของรัฐ ต่อมาได้ตั้งบริษัท พีเม็กซ์(PEMEX) ขึ้นมาเพื่อเป็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ(NOC ) มีการจัดการบริหารกิจการพลังงานแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ทำหน้าที่กำกับดูแล เป็นผู้ลงทุนและ Operator ของทั้งสายโซ่ Petroleum Value Chain (ธุรกิจต้น้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ) และผลที่เกิดขึ้น คือ ขาดประสิทธิภาพ ไม่เกิดการเรียนรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ และขาดเงินทุน
ในช่วงที่พีเม็กซ์ ดำเนินการอยู่นั้น การสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมทำได้อย่างเดียวคือการจ้างผลิต หรือ Service Contract (กฏหมายไม่ให้ร่วมทุนกับต่างชาติ) ซึ่งทำให้ Pemex เป็นผู้ลงทุนและรับความเสี่ยงทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ปริมาณสำรองปิโตรเลียมลดลงเรื่อย ๆ เพราะไม่มีการสำรวจแหล่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะในทะเลลึกผลผลิตปิโตรเลียมลดลง จนในที่สุดต้องนำเข้าน้ำมันเข้ามาในประเทศ ทั้ง ๆ ที่มีทรัพยากรปิโตรเลียม ใต้ดินจำนวนมหาศาล แต่ไม่มีศักยภาพพอในแง่เงินลงทุนและเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้
เมื่อปี 2013 ประเทศเม็กซิโก กำลังมีการปฏิรูปพลังงานครั้งใหญ่ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้รัฐยังคงเป็นเจ้าของทรัพยากรใต้ดินทั้งหมด (เหมือนของไทย) และเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไปลงทุนในการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมเลียมได้ แทนที่จะมี PEMEX รายเดียว เปิดให้มีการแข่งขันในการขายก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า และตั้งหน่วยงานกำกับดูแลด้านปิโตรเลียม ไฟฟ้า
เมื่อมีการปฏิรูปจึงต้องกลับเข้าสู่ระบบการค้าเสรี มีการแยกบทบาทหน่วยงานของรัฐด้านนโยบาย และการกำกับดูแล และการลงทุนที่สำคัญลดหน้าที่ของ PEMEX ให้เหลือเฉพาะการดำเนินการธุรกิจ และปรับเงื่อนไขเปิดและจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงจาก Service Contract มาเป็น License (สัมปทาน) และPSC
สำหรับสาเหตุที่ต้องมีการปฏิรูป พอสรุปได้ว่า PEMEX ขาดเงินทุนและเทคโนโลยี ไม่สามารถสำรวจและพัฒนาศักยภาพด้านการสำรวจและขุดเจาะแหล่งพลังงานได้
รัฐบาลเม็กซิโกไม่สามารถอุ้มราคาน้ำมันในประเทศต่อไปไม่ไหว จึงต้องปรับราคาให้เป็นไปตามกลไกของตลาด และเก็บภาษีน้ำมันมาเพื่อพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังต้องการให้มี บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของต่างชาติอย่าง เอ็กซอน เชลล์ บีพี เข้ามาลงทุน ในทุกๆ ด้าน ทั้งการสำรวจพื้นที่น้ำลึกและการลงทุนในโรงกลั่น รวมภถึงการเปิดปั้มน้ำมัน
นี่จึงเป็นกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นควรนำมาพิจารณาในการปฏิรูปพลังงานของไทยว่าประเทศเม็กซิโกมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับหลายประเทศ ที่เคยมีการยึดกิจการพลังงานมาเป็นของรัฐแต่ทำให้เห็นว่าเป็นการสร้างปัญหา ในระยะยาว เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ส่งเสริมการค้าเสรีภายใต้การกำกับที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมของภาครัฐ ที่ส่งเสริมภาคเอกชนให้เข้มแข็ง และสามารถพัฒนาศักยภาพของประเทศได้เต็มที่