ผู้จัดการรายวัน 360 - สมาคมผู้ค้าปลีกไทย แจงตลาดค้าปลีกออนไลน์ไทยบูม เติบโตกว่า 20% แนะผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ต้องดำเนินการด้วยความเป็นธรรม จี้รัฐเร่งแก้ไขปัญหาชง 3 สูตร
นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า จากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยปี 2557 ธุรกิจการค้าปลีกและค้าส่งมีมูลค่า GDP 1.7 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนเป็นอันดับ 2 หรือ 15.4% รองจากภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนสูงสุด 38.1% แต่เมื่อพิจารณามิติการจ้างงานในภาคค้าปลีกค้าส่ง มีถึงกว่า 6.1 ล้านคน มากเป็นอันดับ 1 และ มากกว่าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วน GDP มากกว่าภาคค้าปลีกค้าส่งถึงสามเท่า
ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ตเติบโตมากช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสารทำให้ผู้ประกอบการเริ่มเปลี่ยนการซื้อขายมาสู่ระบบการค้าออนไลน์ มีแนวโน้มแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะการขยายตัวของผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ซึ่งเข้ามาทำตลาด E-commerce ในประเทศไทย
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า มูลค่า อี-คอมเมิร์ซไทย ปี 59 พบว่า เติบโตต่อเนื่อง มีมูลค่า 2,523,994.46 ล้านบาท คิดเป็น 40.08% ของมูลค่าขายสินค้าและบริการทั้งหมด เพิ่มจากปี 58 คิดเป็น 12.42% ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีมูลค่า อี-คอมเมิร์ซ มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1. ค้าปลีกและค้าส่ง มูลค่า อี-คอมเมิร์ซ 731,828.33 ล้านบาท (34.55%) 2. การให้บริการที่พัก มูลค่า อี-คอมเมิร์ซ 643,033.15 ล้านบาท (30.35%) และ 3. การผลิตมูลค่า อี-คอมเมิร์ซ 343,866.80 ล้านบาท (16.23%)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ปี 2559 ตลาดค้าปลีกออนไลน์ในไทย คาดว่า มีมูลค่า 140,000 ล้านบาท เติบโต 20% เพราะปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้น นิยมการสั่งซื้อสินค้าบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การค้าออนไลน์มีพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากล จากสถิติตัวเลขผู้ขายออนไลน์จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า มีผู้ขายออนไลน์ในไทยสูงถึง 1 ล้าน 5 พันราย แต่ตัวเลขการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีเพียงแค่ 13,000 รายเท่านั้น สัดส่วน 2% ดังนั้น การที่ผู้ขายออนไลน์ไม่จดทะเบียนให้ถูกต้อง ก็ทำให้ระบุตัวตนไม่ได้ ทำให้การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคสามารถกระทำได้อย่างง่าย และเป็นเรื่องเป็นราวกันมาตลอด อย่างเช่น ชำระเงินแล้ว ไม่ได้สินค้าที่ระบุไว้ สินค้าไม่มีคุณภาพ หรือเรื่องภาษี ที่ภาครัฐไม่เคยได้รับอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ทั้งนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยมีข้อเสนอต่อการค้าออนไลน์ ดังนี้ 1. ขอเสนอให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าออนไลน์นั้นต้องดำเนินดังนี้ คือ
1.1. จดทะเบียนภาษีมูลค้าเพิ่มไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไรก็ตาม ที่กรมสรรพากร
1.2. จดทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.
1.3. จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
จากสถานการณ์ในปัจจุบันพบว่า ยังมีผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าออนไลน์จำนวนมากที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการเสียภาษีร้านค้าออนไลน์อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ค้าออนไลน์เจ้าใหญ่ที่อยู่ต่างประเทศ โดยอ้างว่ามีเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ ภาครัฐต้องเข้มงวดในการจัดเก็บภาษีการค้าออนไลน์อย่างจริงจัง
2. สำนักงานส่งเสริมแข่งขันทางการค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จะต้องติดตามพฤติกรรมการค้าออนไลน์ที่สร้างความไม่เป็นธรรมอย่างใกล้ชิด และหามาตรการระงับพฤติกรรมดังกล่าว ตามกลไกที่ระบุในพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542
ทั้งนี้ ในอนาคตตลาดค้าปลีกออนไลน์ของประเทศไทย จะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการธุรกิจ และผู้บริโภคอย่างมาก บวกกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลที่ภาครัฐกำลังผลักดันให้เป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้การตลาดค้าปลีกออนไลน์ เติบโตเป็นทวีคูณและส่งผลกระทบสู่ทุกภาคส่วน ส่งผลให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมค้าปลีกทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดพฤติกรรมการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม