ผู้จัดการรายวัน 360 - อากาศไทยร้อนจัด ดันตลาดแอร์รวมโต 8% มูลค่ากว่า 2.6 หมื่นล้านบาท แต่พานาโซนิคทำสถิติยอดขายพุ่ง 43% ชักธงรบปีนี้ ขอแชร์เพิ่มเป็น 20%
นายทาเคชิ โนะโมโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พานาโซนิค ในประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค เอ.พี.เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าพานาโซนิค เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทย ในปี 2560 คาดว่า จะมีอัตราการเติบโต 10% หรือประมาณ 1.5 ล้านเครื่อง คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 26,800 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนเป็นเครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ 25% และระบบนอนอินเวอร์เตอร์ 75% ขณะที่ปี 2559 ตลาดรวมเติบโต 8% และปี 2558 ตลาดรวมเติบโต 9%
สำหรับปี 2560 นี้ พานาโซนิคตั้งเป้าหมายยอดขายเครื่องปรับอากาศโดยรวมไว้ที่ 350,000 เครื่อง เติบโต 20% เมื่อเทียบกับปี 2559 (เม.ย.59 - มี.ค.60) หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 5,200 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสัดส่วนยอดขายเครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ 30% และอีก 70% เป็นแอร์ที่ไม่ใช่อินเวอร์เตอร์ ขณะที่ตลาดรวมนั้นสัดส่วนเป็นอินเวอร์เตอร์ 25% และไม่ใช่อินเวอร์เตอร์ 75%
ทั้งนี้ ปี 2558 ยอดขายแอร์ของพานาโซนิคเติบโต 45% ขณะที่ปีที่แล้ว 2559 เติบโต 43% จากเฉลี่ยที่ผ่านมาโต 10% กว่า เพราะว่ามีการออกสินค้ารุ่นใหม่มากขึ้น วางกลยุทธ์ตลาดใหม่ที่เหมาะสมแต่ละช่องทาง ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางเพิ่มขึ้น แต่ปี 2560 คงยากที่จะโตถึง 40% อีก เพราะต้องขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างทั้งอากาศ เศรษฐกิจ การแข่งขัน
โดยปี 2559 พานาโซนิค มีส่วนแบ่งตลาดแอร์รวม 18% เพิ่มจากปี 2558 ที่มีแชร์ 13% และเพิ่มจากปี 2557 ที่มีแชร์ 10% ส่วนปี 2560 ตั้งเป้าหมายมีแชร์เพิ่มเป็น 20% โดยใช้งบการตลาดปี 60 นี้ 10% จากยอดขายแอร์ที่ทำได้ประมาณ 4,800 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว ล่าสุด ได้ “แต้ว - ณฐพร เตมีรักษ์” กับ “นาย - ณภัทร เสียงสมบุญ” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ และออกสินค้าแอร์ใหม่ ทั้งระบบสกายซีรีส์ และ แอร์โร ซีรีส์ ทำให้ขณะนี้มีรวม 6 ซีรีส์ 23 รุ่น
“ตลาดเครื่องปรับอากาศของไทยปีนี้มีแนวโน้มเติบโตขึ้น สอดรับกับอัตราความต้องการใช้ของผู้บริโภคที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ซึ่งถือเป็นไฮซีซันของสินค้าเครื่องปรับอากาศ จากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่มีความต้องการเครื่องปรับอากาศที่ช่วยประหยัดพลังงาน และเป็นนวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีอันทันสมัย สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” นายทาเคชิ กล่าว