xs
xsm
sm
md
lg

พพ.จับมือ IRENA ศึกษาจัดทำแผนงาน “เผยแพร่ศักยภาพพลังงานทดแทนไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พพ.จับมือทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ หรือ IRENA ศึกษาประเมินความพร้อมด้านนโยบายพลังงานทดแทนของไทย และการจัดทำแผนงานด้านพลังงานทดแทน หรือ REmap เพื่อเผยแพร่ศักยภาพพลังงานทดแทนของไทยและเพิ่มประสิทธิภาพ มุ่งพัฒนาใช้พลังงานทดแทนได้ตามเป้าหมาย 30% ในปี 2579 สอดรับนโยบายองค์การสหประชาชาติเพื่อขจัดความยากจน ลดก๊าซเรือนกระจก

นายหร่อหยา จันทรัตนา รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พพ.ได้ร่วมประชุม “Renewable Readiness Assessment and REmap Analysis for Thailand” ที่ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจากทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency - IRENA) ซึ่งได้ร่วมกันทำโครงการศึกษาประเมินความพร้อมด้านนโยบายพลังงานทดแทนของไทย (Renewable Readiness Assessment : RRA) และการจัดทำแผนงานด้านพลังงานทดแทนของไทย (Renewable Energy Map : REmap)

“ไทยเราเป็นสมาชิกทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายส่งเสริมพลังงานทดแทนให้มากขึ้น และที่ผ่านมาไทยถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการพัฒนาพลังงานทดแทนค่อนข้างจะก้าวหน้าพอสมควร พพ.ได้จัดให้มีการประชุมดังกล่าวเพื่อที่จะประเมินความพร้อมและเผยแพร่การจัดทำแผนงานด้านพลังงานทดแทนของไทย หรือที่เรียกว่า Remap เพื่อแสดงให้เห็นถึงทิศทางพลังงานทดแทนตามการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ที่มุ่งเน้นการขจัดความยากจน การแก้ไขปัญหาภาวะเรือนกระจก การลดคาร์บอนไดออกไซด์ และการรักษาสิ่งแวดล้อม” นายหร่อหยากล่าว

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ครั้งที่ 6 เมื่อเดือนมกราคม 2559 ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ผ่านมา ได้มีการเจรจาเรื่องความช่วยเหลือด้านวิชาการในแนวทางการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทย และได้ขอให้ IRENA ดำเนินโครงการศึกษาประเมินความพร้อมด้านนโยบายพลังงานทดแทนของไทย ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมดภายในปี 2579 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015)

ปัจจุบันประเทศไทยได้ส่งเสริมพลังงานทดแทนที่ได้จากเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและชุมชนในการเพิ่มรายได้และสร้างงานในชุมชนเพื่อให้ประชาชนกินดีอยู่ดี ซึ่งจะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการพัฒนาพลังงานทดแทนยังมีอุปสรรคในเรื่องของราคาต้นทุนการผลิต การลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมด้านไฟฟ้า ดังนั้นในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลยังคงมีความจำเป็นอยู่

“ฟอสซิลเองยังถือเป็นพลังงานที่จำเป็นและเป็นพลังงานหลัก เนื่องจากพลังงานทดแทนยังมีหลายปัจจัยโดยเฉพาะต้นทุนยังสูงกว่า แต่ช่วงที่ผ่านมาถือว่าเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปได้เร็วและเริ่มมีต้นทุนที่ต่ำ เชื่อว่าอนาคตต้นทุนของราคาพลังงานทดแทนจะเริ่มเข้ามาใกล้เคียงกับฟอสซิล และเมื่อรวมกับการที่เป็นพลังงานสะอาดย่อมจะคุ้มค่ามากขึ้น ในไม่ช้าตัวอย่างพลังงานแสงอาทิตย์เวลานี้ทุนเริ่มลดต่ำมากเพียงไม่กี่ปี” นายหร่อหยากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น