ผู้จัดการรายวัน 360 - “อ้วยอันโอสถ” ปลื้มผลการรีเบรนด์-เปลี่ยนแพกเกจ ส่งผลยอดขายโตต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 จนปิดการขายปี 2559 กว่า 430 ล้านบาท เผยแผนปี 2560 เดินหน้าสร้างการรับรู้สู่กลุ่มผู้บริโภค ดึงเจ้าแม่นาคี “แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์” เป็นพรีเซ็นเตอร์สมุนไพรยาขมิ้นชันแคปซูลครั้งแรกในรอบ 70 ปี เตรียมปูพรมออกทุกสื่อช่วงครึ่งปีหลัง หวังรายได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
นางนิชา สมบูรณ์เวชชการ กรรมการผู้จัดการ ดูแลด้านการตลาดและฝ่ายบุคคล บริษัท อ้วยอันโอสถ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายยาสมุนไพรเป็นเวลากว่า 70 ปี เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทฯ มีการรีแบรนด์ พร้อมปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความทันสมัยขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2556 ส่งผลให้บริษัทสามารถสร้างการรับรู้สู่กลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น ทั้งยังมียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ประมาณ 25% ปี 2558 ประมาณ 20% และปี 2559 ประมาณ 13% เนื่องจากได้รับเหตุการณ์การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ซึ่งส่งผลกระทบให้ธุรกิจส่วนใหญ่มีการชะลอตัวและเลื่อนกิจกรรมการตลาดต่างๆ อย่างไม่มีกำหนด
ในส่วนของบริษัทฯ เดิมทีจะมีการจัดกิจกรรมการตลาดและเปิดตัว “แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์” เป็นพรีเซ็นเตอร์สมุนไพรยาขมิ้นชันแคปซูลเป็นครั้งแรกในช่วงเดือน ต.ค. 59 จึงต้องปรับแผนประชาสัมพันธ์ด้วยการใช้สื่อโฆษณาต่างๆ เช่น ป้ายโฆษณาจอ LED ขนาดใหญ่ทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด, สื่อประชาสัมพันธ์บนสถานีรถไฟฟ้า, การ Wrap รถโดยสารประจำทาง รวมถึงสื่อออนไลน์ โดยครึ่งปีแรกของปี 2560 จะเน้นผลิตภัณฑ์ขมิ้นชันซึ่งมียอดขายประมาณ 15% จากนั้นในช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มทำการตลาดในวงกว้างทั่วทั้งประเทศผ่านสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ และสื่อออนไลน์ ตลอดจนการสร้างภาพลักษณ์ผ่านกิจกรรมต่างๆ
เหตุผลที่เลือก “แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์” เป็นพรีเซ็นเตอร์สมุนไพรขมิ้นชัน เพราะบริษัทฯ ต้องการขยายกลุ่มลูกค้าที่ใช้สมุนไพรให้กว้างขึ้นตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้สูงวัย การเลือก “แต้ว-ณฐพร” ซึ่งเป็นดาราที่มีชื่อเสียงมีไลฟ์สไตล์ที่รักและใส่ใจในสุขภาพของตัวเอง จึงตรงกับภาพลักษณ์ของสินค้าและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าแบรนด์ “อ้วยอันโอสถ”
นางนิชากล่าวด้วยว่า ในปี 2559 บริษัทฯ มียอดขาย 430 ล้านบาท แบ่งเป็นยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้แบรนด์ “อ้วยอันโอสถ” และแบรนด์ดั้งเดิม เช่น มังกรทอง, เหรียญแดง, ไก่ดำ เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วน 80% ขณะที่ตลาดส่วนนี้มีการเติบโตถึง 25% ส่วนผลิตภัณฑ์ใหม่คือยาจากสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้แบรนด์ “HERBAL ONE” มีสัดส่วน 15% และการรับจ้างช่วงผลิตในลักษณะ OEM มีสัดส่วน 5%
“ปัจจุบันบริษัทฯ ยังคงใช้ช่องทางจำหน่ายค้าปลีกผ่านร้านขายยาทั่วไปเป็นจำนวนกว่า 6 พันแห่ง รวมถึงจำหน่ายในโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนกว่า 50 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ส่วนที่เหลืออีก 40% จำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรด ส่วนใหญ่เป็นกรุเทงพฯ และหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ฯลฯ ประมาณ 55% และต่างจังหวัด 45% ขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใหญ่ 80-85% และกลุ่มเด็ก 15-20 % แต่ละปีใช้งบประมาณการตลาด 5-8% ของยอดขาย โดยคาดว่าในปี 2560 จะมียอดขายเพิ่มขึ้น 20-25% หรือไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท”
อนึ่ง จากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กลุ่มสมุนไพร) เพื่อใช้ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสมุนไพรไทย (พ.ศ. 2556-2560) ระบุถึงตลาดยาจากสมุนไพรในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยมีแนวโน้มเติบโตปีละประมาณ 20% ขณะที่ข้อมูลของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติรายงาน ว่า ความต้องการสมุนไพรในตลาดโลกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดย องค์การอนามัยโลก ประเมินว่าตลาดโลกจะมีความต้องการสมุนไพรเพื่อเป็นส่วนประกอบของยา อาหาร ตลอดจน ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 20% สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่ามูลค่าการตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรในตลาดโลกปี 2555 มีมูลค่าสูงถึง 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะสมุนไพรในกลุ่มของผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่มสมุนไพรและยาสมุนไพร
นางนิชากล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจุบันประเทศจีนและอินเดียเป็นผู้ครองตลาดการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ขณะที่ประเทศไทยได้ให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามาจากสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีหลายบริษัทได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตยาจากสมุนไพรโดยเฉพาะ ทำให้ตลาดยาสมุนไพรในประเทศไทยมีการแข่งขันสูงมาก เนื่องจากเทรนด์รักสุขภาพมาแรงทำให้ทุกคนตื่นตัวให้ความสนใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ทั้งออกกำลังกาย ปรับวิธีรับประทานอาหาร หรือหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยาจากสมุนไพรเพื่อรักษาตนเองเบื้องต้นก่อนจะไปพบแพทย์
ด้าน นายชนรรค์ สมบูรณ์เวชชการ กรรมการผู้จัดการ ดูแลฝ่ายผลิต การควบคุมคุณภาพ R&D รวมถึงการส่งออก บริษัท อ้วยอันโอสถ จำกัด กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีการส่งออกไปยังประเทศออสเตรีย โรมาเนีย บัลกาเรีย และอิสราเอล คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% โดยขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการจดทะเบียนสินค้าในประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเริ่มทำตลาดได้เร็วๆ นี้ ส่วนสินค้าที่ส่งออก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากขมิ้นชัน, ฟ้าทะลายโจร, สไปรูลิน่า และมะรุม เป็นต้น
บริษัทฯ มีจุดแข็งด้วยคุณภาพของสินค้าภายใต้มาตรฐานที่ดีในการผลิตยาสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN PIC/S) เป็นมาตรฐานที่สูงที่สุดของยาแผนโบราณเทียบเท่ากับยาแผนปัจจุบัน ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ผลิตเพียง 20 รายเท่านั้นที่ได้รับมาตรฐานนี้ นอกจากนี้ ยังมีระบบเอกสารที่สามารถตรวจสอบได้ เช่น การเก็บผลิตภัณฑ์ที่ผลิตแล้วมาตรวจย้อนหลัง หรือ Stability Test เพื่อตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์นั้นยังมีมาตรฐานที่ดีทั้งด้านสารสำคัญและกายภาพหรือไม่
ปัจจุบันบริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์ยาและอาหารเสริมจากสมุนไพรที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มากกว่า 90 ตำรับ รวมประมาณ 200 รายการ แต่ละปีจะมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ประมาณ 5 รายการ โดยปัจจุบันมีศักยภาพการผลิตยาแคปซูล ประมาณ 2.4 แสนเม็ดต่อชั่วโมง ยาเม็ดแท็บเล็ต 50 ล้านเม็ดต่อปี ยาเม็ดลูกกลอน 7 ล้านขวดต่อปี ยาน้ำ 4 ล้านขวดต่อปี เป็นต้น