xs
xsm
sm
md
lg

“กพช.” สั่งเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ แต่ต้องยึดกรอบความเห็นไตรภาคี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กพช.” เคาะแล้วสั่งลุยเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โดยยึดตามกฎหมายและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะให้นำเอาความเห็นของคณะกรรมการไตรภาคีเข้าไปร่วมพิจารณา EHIA “บิ๊กโย่ง” ลั่นคนหนุนมากกว่าต้าน ส่วนคนต้านเป็นคนนอกพื้นที่แต่เข้าใจอุดมการณ์ แนะให้ดูทั่วโลกก็ใช้ถ่านหินไทยจิ๊บจ๊อยมาก หวังก่อสร้างได้ปี 2561

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า กพช.ได้พิจารณาให้เดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด จ.กระบี่ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2015) โดยเน้นให้เป็นไปตามกฎหมายและสิ่งแวดล้อมที่จะต้องผ่านการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่จะต้องนำเอาความเห็นของคณะกรรมการไตรภาคีไปพิจารณาร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้คัดค้านโครงการแต่ก็พบว่าคนในพื้นที่สนับสนุนเกินครึ่งและคนที่คัดค้านเป็นคนจากนอกพื้นที่ จ.กระบี่เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเข้าใจได้ว่าผู้คัดค้านคงจะทำตามหน้าที่และอุดมการณ์ที่ต้องการคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจากทั่วโลก แต่ต้องเข้าใจว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็ต้องมองในเรื่องของความสมดุลของเชื้อเพลิง และประเทศต่างๆ ได้ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเฉลี่ย 30-40% ของเชื้อเพลิงทั้งหมดที่ผลิตไฟ เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เยอรมนี จีน ขณะที่ไทยถ่านหินคิดเป็นเพียง 18-19% เท่านั้น และได้เลือกเทคโนโลยีที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด คือ Ultra-supercritical ที่เป็นมาตรฐานสากลทั่วโลกยอมรับ

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และเห็นชอบให้ดำเนินการตามข้อกฎหมายที่กำหนด คือ ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณารายงาน EIA/EHIA โดยนำความเห็นของคณะกรรมการไตรภาคีฯ ไปประกอบการพิจารณาต่อไป ซึ่งข้อเสนอแนะให้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการติดตามตรวจสอบการทำงานของโรงไฟฟ้า ขยายเขตกองทุนพัฒนาพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าเกินกว่ารัศมี 5 กิโลเมตร ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการขนส่งถ่านหิน และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในพื้นที่ รวมทั้งบริหารจัดการพื้นที่โครงการตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด

“ตามแผนคาดว่าโรงไฟฟ้ากระบี่จะสร้างเสร็จปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 ดังนั้น การพิจารณาแผน EHIA ก็คงต้องเสร็จปีนี้เพื่อเริ่มก่อสร้างปี 2561 ซึ่งการที่ล่าช้าไป 2 ปี ขณะนี้ได้มีการก่อสร้างสายส่งเพิ่มเพื่อส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้รองรับ แต่เพื่อความมั่นคงจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่อันดามัน รองรับด้านการท่องเที่ยวและอื่นๆ โดยข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้โตขึ้นถึง 4.7% ส่วนภาคกลางโตเพียง 3.7% กทม.โตเพียง 2.4%” นายทวารัฐกล่าว

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กพช.ยังเห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการผลิตไฟฟ้าชีวมวลและก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) โดยรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าชีวมวลไม่เกิน 12 เมกะวัตต์ และจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยเพิ่มการสร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริมระบบป้องกันตนเองของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบกระจายศูนย์ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงในชุมชน
กำลังโหลดความคิดเห็น