กลุ่มสหกรณ์ฯ ฮึ่มตบเท้าพบ “นายกฯ” 14 ก.พ.นี้ หวังประชุม กพช. 17 ก.พ.เดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์เฟส 2 ด้วยวิธีจับสลากเช่นเฟสแรก ยื่นรายชื่อ 2,000 รายค้านใช้วิธีประมูลหลัง ก.พลังงานส่งสัญญาณปรับใหม่ ขณะที่จับตาโซลาร์ฟาร์มราชการ 400 เมกะวัตต์อาจไม่ล้มหลังบางหน่วยงานไม่ขัดกฎหมาย
นายปฏิพล เกตุรัตนัง ประธานสหกรณ์การเกษตรนาบอน จำกัด จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะตัวแทนสหกรณ์ฯ ทั่วประเทศ เปิดเผยว่า วันที่ 14 ก.พ.นี้ตัวแทนสหกรณ์ภาคการเกษตรทั่วประเทศเตรียมเดินทางไปพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงจุดยืนที่ต้องการให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกฯ เป็นประธานวันที่ 17 ก.พ. พิจารณาซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์เฟส 2 รวม 519 เมกะวัตต์ ในส่วนของสหกรณ์จำนวน 119 เมกะวัตต์ด้วยวิธีจับสลากและอัตราเงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนตามต้มทุนที่แท้จริงหรือ FiT 5.66 บาทต่อหน่วยตลอดอายุโครงการเช่นเดียวกับเฟสแรก
“ทางสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เสนอให้ใช้วิธีประมูล (บิดดิ้ง) แทน และที่ผ่านมาได้ยื่นหนังสือคัดค้านกับนายกฯ เมื่อ 25 ม.ค. แต่ถูกพลังงานกล่าวอ้างว่าเป็นคนกลุ่มน้อย รอบนี้จึงจะนำรายชื่อ 2,000 รายที่ได้ลงนามคัดค้านมาด้วย และในวันเดียวกันจะยื่นกับกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อีกรอบ” นายปฏิพลกล่าว
ทั้งนี้ การผลักดันให้ใช้วิธีประมูลจะทำให้สหกรณ์ไม่สามารถเข้าร่วมได้เพราะผิดวัตถุประสงค์เนื่องจากการประมูลผู้ที่จะเข้าลงทุนต้องเป็นผู้ยื่นเท่านั้น ขณะที่การจับสลากสหกรณ์สามารถดำเนินการได้ ซึ่งหลักการดังกล่าวทางรัฐเองก็ไม่ได้ชัดเจนว่าจะมีกติกาอย่างใดแน่ และการจับสลากที่ผ่านมาก็ถือว่าดำเนินการได้ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด ตรงกันข้ามการประมูลน่าจะเอื้อให้กับกลุ่มบางกลุ่มมากกว่า ส่วนกรณีโซลาร์ฟาร์มราชการ 400 เมกะวัตต์นั้น หาก กพช.จะยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนแนวทางรับซื้อสหกรณ์ฯ ก็จะขอส่วนหนึ่งมาเป็นสัดส่วนในสหกรณ์เพิ่มขึ้น แต่หากไม่ได้ก็ไม่มีปัญหาอะไรอยู่ที่รัฐจะเห็นชอบ
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า การประชุม กพช.17 ก.พ.นี้คงจะได้ข้อสรุปถึงความชัดเจนโครงการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์เฟส 2 โดยเฉพาะในส่วนของโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ฯ ที่มีการเรียกร้องจากสหกรณ์ให้มีการรับซื้อด้วยวิธีจับสลาก แต่ทาง สนพ.ได้เสนอให้ใช้วิธีประมูลคงจะต้องให้ กพช.พิจารณาข้อดีและข้อเสีย
ส่วนโซลาร์ฟาร์มราชการฯ 400 เมกะวัตต์ที่ติดขัดข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าหน่วยงานราชการไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ แต่ยอมรับว่ากฎหมายของหน่วยงานราชการบางแห่งเปิดช่องให้ดำเนินการได้โดยเฉพาะองค์การทหารผ่านศึก และหน่วยงานทางการศึกษา ซึ่งหากให้ดำเนินการก็นับเป็นประโยชน์ในภาพรวม ดังนั้น ส่วนนี้อาจจะต้องมาพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร หากยกเลิกแล้วจะต้องไปดำเนินการเช่นไรหรือจะไม่ยกเลิกแล้วจะดำเนินการรับซื้อเต็ม 400 เมกะวัตต์หรือไม่