xs
xsm
sm
md
lg

ชี้แจงการบริหารจัดการขยะที่ท่าฯสุวรรณภูมิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สืบเนื่องจากกรณีที่ปรากฎเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 6 ก.พ 2560 เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กลุ่มเอส พี เอส คอนซอร์เตียม (“กลุ่มเอสพีเอสฯ”) ขอเรียนชี้แจง ดังนี้

1. ในการเข้าประมูลโครงการบริหารจัดการขยะ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กลุ่มเอสพีเอสฯ ได้นำเสนอแผนงานโดยยึดตามข้อมูลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมปี 2548 และ 2549 ที่ ทอท.ระบุไว้ใน TOR ซึ่งในรายงานดังกล่าว ได้มีการคาดการณ์ปริมาณขยะที่ต้องจัดการ จำนวนทั้งสิ้น 66.5 ตันต่อวัน

แต่นับตั้งแต่เริ่มเข้าไปดำเนินการบริหารจัดการขยะ กลุ่มเอสพีเอสฯ พบว่า ขยะที่เกิดขึ้นจริงมีปริมาณและองค์ประกอบของขยะไม่ตรงกับที่ระบุใน TOR ตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น จากการศึกษาวิเคราะห์ปริมาณ องค์ประกอบ คุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของขยะ โดยสถาบันการศึกษา 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า มีปริมาณขยะที่ต้องจัดการต่อวันเพียง 40 ตันเท่านั้น (จากที่คาดการณ์ไว้เดิมประมาณ 66.5 ตันต่อวัน) ยิ่งไปกว่านั้น ปริมาณขยะเปียกที่จะใช้สำหรับการหมัก เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพก็ไม่เพียงพอต่อการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเตาเผาขยะ ทำให้จะต้องจัดหาเชื้อเพลิงจากภายนอกมาใช้สำหรับเตาเผาขยะแทน ประกอบกับค่าความชื้นของขยะสูงมาก ไม่เหมาะสมสำหรับการกำจัดด้วยเตาเผาขยะ เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองในการใช้เชื้อเพลิงแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ซึ่งอาจมีผลต่อการสร้างมลพิษทางอากาศ และก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งได้ ดังนั้น หากกลุ่มเอสพีเอสฯ จะดำเนินการหมักขยะและสร้างเตาเผาเพื่อเผาขยะตามสัญญาต่อไปก็จะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม อันเป็นการขัดต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปี 2548 และ 2549 ที่ ทอท. เสนอไว้

กลุ่มเอสพีเอสฯ จึงได้เสนอให้ ทอท. พิจารณาหลายครั้ง เพื่อขอให้เปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารจัดการขยะในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจากการสร้างเตาเผาขยะและระบบหมักเปลี่ยนเป็นการกำจัดด้วยวิธีอื่นที่เหมาะสมกว่า โดยนำมูลฝอยที่ผ่านการคัดแยกไปฝังกลบอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล และนำมูลฝอยที่ย่อยสลายได้ไปใช้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรการด้านการจัดการมูลฝอยของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

โดยสรุป หากต้องการสร้างเตาเผาขยะและระบบหมัก ทอท.จะต้องดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้กำหนดไว้ในรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และต้องผ่านการอนุมัติจาก สผ. ก่อน นอกจากนี้ การสร้างเตาเผาขยะและระบบหมัก ยังต้องปฎิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ คือ พรบ.โรงงาน พ.ศ 2533 และ พรบ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ 2535 ซึ่งกำหนดให้การสร้างเตาเผาขยะและระบบหมัก ซึ่งเป็นโรงงานจำพวกที่สาม จะต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชน และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก่อน

2. ตลอดระยะเวลาของการเจรจาที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมและกระทำได้ กลุ่มเอสพีเอสฯ ก็ยังได้ปฏิบัติงานบริหารจัดการขยะในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอย่างดีมาโดยตลอด ตั้งแต่วันเริ่มสัญญาจนถึงวันสิ้นสุดสัญญา โดยได้ส่งมอบงานและได้รับคะแนนการส่งมอบงานในระดับที่ดีทุกเดือนตลอดอายุสัญญา นอกจากนี้ กลุ่มเอสพีเอสฯ ก็ยังได้ให้ความร่วมมืออันดีกับ ทอท. ในทุกๆ เรื่อง ทั้งเรื่องการให้ข้อมูลเพิ่มเติม ในเรื่องแบบ Drawing ต่างๆ และรายละเอียดของแบบ ตามที่ ทอท. ขอเพิ่มมาทุกครั้ง รวมทั้งเรื่องอื่นๆ จนกระทั่งครบกำหนดสัญญา ในขณะนี้กลุ่มเอสพีเอสฯ ได้ส่งมอบทรัพย์สินและอุปกรณ์ต่างๆ ในการบริหารจัดการขยะให้กับ ทอท. ได้อย่างครบถ้วนถูกต้องแล้วในวันสิ้นสุดสัญญา

3. การทำงานตั้งแต่ งวดเดือนเมษายน 2553 ถึงงวดเดือนกันยายน 2559 ทอท. ไม่ได้จ่ายค่าจ้างบริหารจัดการขยะในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้แก่กลุ่มเอสพีเอสฯ ทั้งๆ ที่กลุ่มเอสพีเอสฯ ได้ดำเนินการและส่งมอบงานแล้ว รวมเป็นต้นเงินทั้งสิ้น 194,083,474.04 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น