xs
xsm
sm
md
lg

“เคเบิลภูธร” ทุ่มพันล้านอัประบบ CTV จ่อซื้อไลเซนส์ “HBO-FOX”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิชิต เอื้ออารีกุล
ผู้จัดการรายวัน 360 - ลุ้น “HBO” หวยออกที่ “เคเบิลทีวีท้องถิ่น” หลังพ้นหมาก CTH ศึกนี้ต้องอยู่ให้รอด เคเบิลท้องถิ่นพร้อมสลัดคราบภูธรหวังทัดเทียมรายใหญ่ คาดใช้งบร่วม 1,000 ล้านบาทอัปเกรดจากระบบแอนะล็อกสู่ดิจิตอลใน 1-2 ปี “เจริญเคเบิล” ทุ่มสุดตัว พร้อมดึง “HBO” คู่ “FOX” ลงกล่องเอนคริปชัน

นายเกษม อินทร์แก้ว ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์เคเบิลทีวีท้องถิ่นในปี 2560 นี้จะต้องมีการปรับตัวอย่างมากหากต้องการอยู่ในธุรกิจนี้ต่อ ซึ่งบางส่วนที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ซีทีเอช จำกัด ยังมีเรื่องที่ต้องจัดการให้เรียบร้อยอยู่ โดยในเดือน มี.ค.นี้จะรู้ผลหลังจากที่ซีทีเอชยื่นขอทางศาลเกี่ยวกับการฟื้นฟูบริษัท และมีผู้คัดค้าน

ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นเองจะต้องเร่งปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงจากคู่แข่งภายนอก จากการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นแบบคอนเวอร์เจนต์ ทำให้สามารถรับชมคอนเทนต์ในช่องทางต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น ทีวี, โทรศัพท์ และจอแท็บเล็ตต่างๆ ล้วนเป็นคู่แข่งของเคเบิลทีวีทั้งสิ้น รวมถึงการที่จะต้องเข้าพูดคุยร่วมกับ กสทช.เพื่อหาทางช่วยให้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวียังคงอยู่ในธุรกิจนี้ต่อไปได้

ปัจจุบันคาดว่าสมาชิกที่รับชมเคเบิลทีวีท้องถิ่นน่าจะมีอยู่ไม่เกิน 2 ล้านครัวเรือน จากช่วง 5-6 ปีก่อนที่เคยมีสูงสุดราว 3 ล้านครัวเรือน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ลดลงมาจากหลายด้าน ทั้งการปิดตัวของซีทีเอช สภาพเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ดังนั้นเคเบิลทีวีท้องถิ่นต้องปรับตัวเช่นกัน จากระบบแอนะล็อกสู่ดิจิตอล เพิ่มบริการจากเคเบิลทีวีสู่บรอดแบรนด์ ซึ่งขณะนี้น่าจะทำได้แล้วกว่า 50% ภายใน 1-2 ปีนี้น่าจะครอบคลุม 100% โดยทั้งหมดคาดว่าจะใช้เม็ดเงินราว 1,000 ล้านบาท

นายเกษมกล่าวต่อว่า นอกจากการปรับตัวด้านโครงข่ายแล้ว ในแง่ของการบริหารจัดการก็จะต้องปรับตัวด้วย ลดจำนวนพนักงานลง รวมถึงหาคอนเทนต์ใหม่ๆ เข้ามาให้บริการ เช่น HBO หลังจากออกจากทรูวิชั่นส์ ทางกลุ่มผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นเองต่างมองเห็นโอกาสและอาจจะเข้าไปเจรจาเช่นกันในลักษณะรวมตัวเข้าไปซื้อ ซึ่งมองว่าแนวทางของ HBO น่าจะเป็นแบบ IPTV ซึ่งหากได้มาจริง การปรับราคาบริการเพิ่มขึ้นอาจจะทำได้ยาก จึงต้องมุ่งหารายได้จากทางอื่นทดแทน เช่น รายได้จากโฆษณา เป็นต้น

ด้านนายวิชิต เอื้ออารีวรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญยิ่ง (8888) จำกัด ผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้ชื่อ “เจริญเคเบิล ทีวี” กล่าวว่า ในส่วนของเจริญเคเบิล ปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งระบบไฟเบอร์ออปติก ล่าสุดได้จับมือกับทางไฟเบอร์วันในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน จากการที่ไฟเบอร์วันติดตั้งสายไฟเบอร์ออปติกในพื้นที่ต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีอยู่อีกหลายร้อยแอเรีย ถือเป็นการลดต้นทุนด้านการติดตั้งโครงข่ายให้กับทางเจริญเคเบิล และทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้บริการได้มากขึ้น

“ที่ผ่านมาทั้งทางเจริญเคเบิล และไฟเบอร์วัน ต่างลงทุนติดตั้งสายโครงข่ายในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งทางบริษัทมองว่าสามารถใช้ประโยชน์จากไฟเบอร์วันได้ จึงเลือกที่จะจับมือกับทางไฟเบอร์วันส่งสัญญาณเคเบิลทีวีผ่านระบบโครงข่ายของไฟเบอร์วันหลังจากนี้ในส่วนที่เจริญยังไม่ได้ติดตั้งซึ่งยังมีอีกหลายพื้นที่ และแบ่งรายได้กัน”

นายวิชิตกล่าวต่อว่า นอกจากพัฒนาโครงข่ายแล้ว ทางเจริญเคเบิลยังมีความสนใจในการซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์เข้ามาเพิ่ม ทั้งในส่วนของ HBO และฟ็อกซ์ โดยจะเป็นการเข้าไปซื้อแบบรายเดียว และนำมาบริหารจัดการส่งต่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่สนใจต่อ เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้บริการเคเบิลทีวียกระดับขึ้นใกล้เคียงกับทรูวิชั่นส์ที่เป็นพรีเมียมเพย์ทีวี และสามารถแข่งขันกับอุตสาหกรรมทีวีได้

“ทางบริษัทมีความสนใจเข้าไปซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการของทางเอชบีโอ โดยอาจจะไม่ได้เข้าไปคุยกับทางเอชบีโอใหญ่ แต่อาจจะเข้าไปคุยกับบางช่อง เพราะคงจะไม่สามารถซื้อแบบเหมาช่องได้ เนื่องจากพื้นที่ในการนำเสนอช่องนั้นมีน้อย รวมถึงการเข้าไปคุยกับทางฟ็อกซ์เช่นกัน เพราะถือเป็นอีกรายที่มีช่องรายการค่อนข้างมาก น่าจะเป็นช่องรายการที่จะทำให้เกิดสมาชิกใหม่เพิ่ม ส่วนรูปแบบการนำเสนอนั้นอาจจะต้องปรับขายเป็นแพกเกจใหม่ จากการให้บริการกล่องในรูปแบบกล่องเอนคริปชัน” นายวิชิตสรุป



กำลังโหลดความคิดเห็น