“สนพ.” กระทรวงพลังงานเมินเสียงค้านกลุ่มสหกรณ์การเกษตรฯ ย้ำเสนอ กพช. 17 ก.พ.นี้ใช้วิธีประมูลรับซื้อไฟโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ฯ 191 เมกะวัตต์ที่เหลือด้วยวิธีประมูล ส่วนโซลาร์ฟาร์มราชการฯ ยกเลิก เสนอให้นำไปเป็นรูปแบบ SPP Hybrid ทั้งหมด ขึ้นอยู่ กพช.จะตัดสินใจอย่างไร
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยจากกรณีที่กลุ่มสหกรณ์การเกษตรเคลื่อนไหวเรียกร้องให้การรับซื้อโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดินสหกรณ์การเกษตรระยะที่ 2 ซึ่งเหลือจำนวน 119 เมกะวัตต์ใช้วิธีจับสลากเหมือนระยะที่ 1 ว่า เป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์การเกษตรยังคงเปิดรับซื้อตามเป้าหมายเดิมรวม 400 เมกะวัตต์ โดยจากการจับสลากที่เปิดรับซื้อระยะแรกไปแล้วเหลืออีก 119 เมกะวัตต์ที่จะนำมาเปิดรับซื้อระยะที่ 2 นั้นกระทรวงพลังงานจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) 17 ก.พ.นี้พิจารณาปรับรูปแบบเดิมจากจับสลากมาเป็นวิธีประมูลการแข่งขันด้านราคา (Bidding) เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
“ต้องยอมรับว่าการเปิดรับซื้อเฟสแรกคัดเลือกได้จำนวน 281 เมกะวัตต์ มีเอกชนผู้ลงทุนไม่ได้ตั้งใจจะดำเนินโครงการอย่างแท้จริงทำให้โครงการล่าช้าและอาจจะเกิดผลกระทบต่อสหกรณ์และแผนส่งเสริมพลังงานทดแทน ซึ่งในขณะนี้ก็มีหลายโครงการขอเลื่อนระยะเวลาขายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญา (SCOD) แล้ว” นายทวารัฐกล่าว
ทั้งนี้ ยืนยันว่ากระทรวงพลังงานไม่มีแผนยกเลิกสัดส่วนโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์การเกษตรที่เปิดส่งเสริมรวม 400 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม ตามเป้าหมายเดิมจะเปิดคัดเลือกเฟส 2 พร้อมกับโซลาร์ราชการ 400 เมกะวัตต์ แต่เมื่อสำนักงานกฤษฎีกาสูงสุดตีความแล้วว่าหน่วยงานราชการไม่สามารถดำเนินโครงการโซลาร์ราชการได้จึงต้องเสนอ กพช. วันที่ 17 ก.พ.นี้พิจารณาพร้อมกันว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะส่วนของโซลาร์ฟาร์มราชการที่จะยกเลิก 400 เมกะวัตต์แล้วจะนำไปส่งเสริมอย่างใดขึ้นอยู่กับ กพช. แต่กระทรวงพลังงานจะเสนอให้มีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนรูปแบบสัญญาซื้อขายแบบสม่ำเสมอ (Firm) ภายใต้โครงการรับซื้อเอกชนรายเล็กแบบผสมผสาน หรือ SPP Hybrid
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า กระทรวงพลังงานยังคงจะเสนอแนวทางการเปิดรับซื้อโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์โดยใช้วิธีการประมูลแทนการจับสลากเช่นที่ผ่านมา พร้อมกันนี้จะพิจารณาลดอัตราการรับซื้อที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง Feed in Tariff (FiT)จาก 5.66 บาทต่อหน่วย เป็น 4.12 บาทต่อหน่วยเพราะค่าลงทุนลดลง โดยเฉพาะแผงโซลาร์ลดจาก 54 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์เหลือ 42.2 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์เท่านั้น