“อุตตม” รมว.อุตสาหกรรมเผยนายกฯ มีคำสั่งด่วน 24 ม.ค.มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมทำหน้าที่ขับเคลื่อน “สสว.” เพื่อให้การปฏิบัติงานไม่ซ้ำซ้อน ประหยัดงบประมาณด้านการพัฒนา SMEs ของประเทศ เตรียมเรียกกลไกหลัก สสว. กสอ. และอุตสาหกรรมจังหวัดหารือแนวทางทำงานสัปดาห์หน้า พร้อมเรียกคณะทำงาน 10 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายทยอยกางแผนปฏิบัติงาน 5 ปี
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมทำหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลและการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ในส่วนของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) ที่จะทำให้การทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและ สสว.ไม่ซ้ำซ้อนเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ
“นายกฯ มอบให้กระทรวงอุตฯ ดูแลใกล้ชิดในการขับเคลื่อนการปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้หมายถึง สสว.อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงอุตฯ โครงสร้างยังเหมือนเดิมไม่ได้ไปแตะ ซึ่งการมอบหมายก็เพราะเห็นว่า SMEs เป็นโจทย์ที่เราดูแลจึงต้องการให้การทำงานไปในทิศทางเดียวกัน” นายอุตตมกล่าว
ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าจะหารือร่วมกันระหว่าง สสว. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ที่มีบทบาทดูแล SMEs ในขณะนี้ รวมถึงอุตสาหกรรมจังหวัดที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิบัติที่จะทำอย่างไรไม่ให้ซ้ำซ้อนและกำหนดหน้าที่ให้ชัดเจน ซึ่งได้มอบหมายให้ กสอ.ไปทำแผนปฏิบัติการให้ชัดเจนแล้วและจะมาส่งในสัปดาห์หน้า โดยต้องกำหนดโครงการและผู้ดำเนินโครงการที่เน้นการสร้างองค์ความรู้ การปรับตัวรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือทางการเงินผ่านกองทุนพัฒนาSMEs เป็นต้น
นอกจากนี้ สัปดาห์หน้าคณะทำงานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่มี 10 กลุ่มจะต้องทยอยรายงานแผนปฏิบัติการที่ตนได้มอบโจทย์ไปให้ทำแผนชัดเจนว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้าจะดำเนินการเช่นไร จะเริ่มดำเนินการในพื้นที่ใด มีเงินลงทุนเท่าใด และใครควรจะเป็นผู้ลงทุน และสำคัญสุดต้องตอบโจทย์ว่าประชาชนคนไทยจะได้อะไรจากโครงการทั้งหมด ซึ่งปี 2560 จะต้องเริ่มนำไปสู่การปฏิบัติงาน
“ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนและตอบโจทย์แผนปฏิบัติงานคืออุตสาหกรรมชีวภาพซึ่งเราต้องการให้เห็นภาพเช่นนั้น ตัวอย่างต่างประเทศมีแผนพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV จะเริ่มต้นบางพื้นที่เช่นเมืองหนึ่งก่อนแล้วกำหนดว่ารถยนต์ในเมืองนี้ต้องเป็น EV เราเองก็อาจเดินไปในลักษณะนี้ได้ที่จะมีการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเราก็อาจทำได้ และก็เริ่มต้นจากรถ EV ที่เป็นรถบริการสาธารณะในพื้นที่นั้นๆ” นายอุตตมกล่าว
นอกจากนี้ยังได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน โดยในเดือน ก.พ.จะได้เดินทางไปหารือร่วมกันที่ ส.อ.ท. โดยคณะทำงานร่วมก่อนหน้านี้ก็มีการจัดตั้งบ้างแล้วจะมาดูว่าจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับนโยบายปัจจุบัน เช่น คณะทำงาน S-Curve คณะทำงานสิ่งแวดล้อม รวมถึงคณะใหม่เช่น คณะทำงานเพื่อจัดทำเครือข่ายฐานข้อมูลผู้ประกอบการ เป็นต้น