xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานหวังเจรจาไอพีพีกัลฟ์ฯ จบแบบไม่เจ็บหลังเสนอเลื่อน SCOD 3 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงพลังงานยังหวังเจรจาไอพีพี “กัลฟ์” 5,000 เมกะวัตต์จะยุติแบบเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยยอมรับกัลฟ์ฯ ได้เสนอเลื่อนระยะเวลาโรงไฟฟ้า หรือ SCOD ออกไป 3 ปี หรือให้เลือกแนวทางบริหารสัญญา รับยังต้องเจรจารายละเอียดต่างๆ ให้ลงตัว ด้าน “กฟผ.” จี้รัฐเร่งสรุปหวังเดินหน้าก่อสร้างสายส่งรองรับให้ทันเวลา


แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ยังคงอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัท Independent Power Development ซึ่งเป็นบ.ร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอนเนอร์จี้ ดีเวลลอปเมนท์ และบริษัท มิตซุย แอนด์ คัมปะนี (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ชนะประมูลขายไฟฟ้าในโครงการรับซื้อไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่อิสระ (IPP) จำนวน 5,000 เมกะวัตต์ โดยการเจรจามุ่งหวังที่จะให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายและภาพรวมของประเทศ

อย่างไรก็ตาม แนวทางการเจรจาที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้มุ่งเน้นเจรจาด้วยการให้จ่ายไฟ ณ สถานีไฟฟ้าย่อยปลวกแดงไม่เกินศักยภาพของสถานีที่รับได้ 2,700 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องพัฒนาและขยายระบบส่งไฟฟ้า (TSU) โดยขอให้ผู้ชนะประมูลบอกเลิกสัญญาขายไฟที่มี 2 สัญญา โดยเลิกสัญญาที่ 2 จำนวนประมาณ 2,500 เมกะวัตต์ เพื่อให้อยู่ในกรอบขีดความสามารถสายส่งดังกล่าว

ขณะที่ กัลฟ์ ได้เสนอให้เลื่อนระยะเวลาการดำเนินงานโรงไฟฟ้า (SCOD) ทั้ง 2 สัญญาออกไปเป็นระยะเวลา 3 ปี หรือเสนอทางเลือกในการบริหารสัญญา ดังนี้ เปลี่ยนจุดเชื่อมต่อโรงไฟฟ้าที่ 1 เชื่อมเข้าที่สถานีโรงไฟฟ้าปลวกแดง 2,500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าที่ 2 ให้เข้าที่สถานีไฟฟ้าปลวกแดง 625 เมกะวัตต์ และสถานีไฟฟ้าบางละมุง 1,875 เมกะวัตต์ กรณีนี้รัฐบาลไม่ต้องเสียค่า TSU เนื่องจากเป็นการกระจายไฟฟ้าให้อยู่ในขีดความสามารถของโรงไฟฟ้าย่อย แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมประมาณ 1,690 ล้านบาท และ ให้ดำเนินการทั้ง 2 สัญญา โดยบริษัทฯ พร้อมที่จะรับภาระ TSU จำนวน 5,900 ล้านบาททั้งหมด แต่ขอให้รัฐรับซื้อไฟฟ้าเต็มขีดความสามารถของโครงการทั้งหมดที่ 5,400 เมกะวัตต์ หรือรับเพิ่มขึ้นจากสัญญาเดิมอีก 400 เมกะวัตต์

“ยอมรับว่าการเจรจาไกล่เกลี่ยก็เพื่อให้ทุกอย่างเกิดผลดีต่อภาพรวมซึ่งก็ต้องอาศัยเวลาเนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ผูกพันสัญญากับผู้ชนะประมูลไปแล้ว แต่การตรวจสอบการพิจารณาคัดเลือกน่าจะใช้ดุลพินิจไม่เหมาะสมทำให้การรับซื้อไฟรายเดียว 5,000 เมกะวัตต์นั้นในช่วงที่ไฟเข้าระบบในช่วงปี 2564 และ 2569 มีสำรองสูงเกินไปและยังก่อให้เกิดการสร้าง TSU ล่วงหน้าโดยไม่จำเป็น” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.จะทำการสำรวจเพื่อวางระบบส่งรองรับในปี 2560 โดยมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจเรื่องดังกล่าวเร็วสุดภายในกลางปีนี้เพื่อที่จะทำให้ กฟผ.ตัดสินใจเดินหน้าก่อสร้างระบบส่งรองรับ อย่างไรก็ตาม การเจรจาระหว่างกระทรวงพลังงานกับกลุ่มกัลฟ์เอง กฟผ.ทราบเพียงว่าทางกลุ่มกัลฟ์นเสนอที่จะเลื่อนโรงไฟฟ้าออกไป แต่ข้อเท็จจริงไม่ทราบในรายละเอียด หากเลื่อนออกไปโดยไม่มีผลกระทบค่าไฟฟ้าก็ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดสำรองไฟฟ้าที่ดี แต่หากเลื่อนแล้วขอเพิ่มค่าไฟรัฐก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น