“กรมชลประทาน” เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม อ.ระโนด จ.สงขลา หลังนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้าน โดยขุดลัดคลองท่าเข็นพร้อมประตูระบายน้ำระบายน้ำลงทะเลโดยตรง และขุดขยายคลองโคกทองลดสภาพคอขวดเร่งระบายน้ำ พร้อมสร้างสะพานแบลีย์ให้ราษฎรใช้งานชั่วคราวหลังน้ำท่วมรอบสอง
นายประพิศ จันทร์มา ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปตรวจเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัยพื้นที่ อ.ระโนด จ.สงขลา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 และสั่งการให้กรมชลประทานศึกษาและดำเนินการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระทั้งระบบ เพื่อป้องกันอุทกภัย ภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนนั้น นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ได้มอบหมายให้กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ปัญหาเร่งด่วน 2 โครงการทันที ได้แก่ โครงการประตูระบายน้ำบ้านท่าเข็น ต.คลองแดน อ.ระโนด โดยขุดคลองท่าเข็นลัดตรงออกสู่ทะเลระยะทาง 130 เมตร แทนอ้อมไปประตูระบายน้ำปากระวะ ซึ่งจะช่วยเร่งระบายน้ำได้เร็วขึ้น พร้อมทั้งสร้างประตูระบายน้ำ โดยใช้งบประมาณของจังหวัด 150 ล้านบาท อีกโครงการบริเวณพื้นที่ใกล้ประตูระบายน้ำโคกทอง ต.ระโนด อ.ระโนด ประกอบด้วยการขุดขยายปากคลองโคกทองออกสู่ทะเล และการสร้างสะพานข้ามคลองโคกทองอำนวยความสะดวกในการสัญจรให้แก่ราษฎรทั้งสองฝั่งคลอง
ทั้งนี้ จะขุดขยายความกว้างของคลอง ช่วงถัดจากประตูระบายน้ำโคกทองไปออกทะเล เดิมมีลักษณะเป็นคอขวด โดยเพิ่มขีดความสามารถระบายน้ำมากกว่าเท่าตัว จากเดิม 15 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 35 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่วนสะพานข้ามคลองโคกทองได้ตกลงกับกรมทางหลวงชนบท ขอเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเอง เพื่อความสะดวกเรื่องแบบและงบประมาณ แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมซ้ำสอง กรมชลประทานจึงเร่งประกอบและติดตั้งสะพานแบลีย์ใช้งานชั่วคราวไปก่อนตั้งแต่วันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา
“ตัวสะพานถาวรจะเริ่มก่อสร้างหลังน้ำลด กำหนดให้เสร็จภายในเดือนกันยายนนี้” นายประพิศกล่าว
โครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ และ อ.สิงหนครนั้น กรมชลประทานได้วางแผนดำเนินการระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2558-2563) งบประมาณ 5,800 ล้านบาท โดยเน้นก่อสร้างคันกั้นน้ำจากทะเลสาบสงขลาเข้าสู่พื้นที่คาบสมุทรในฤดูน้ำหลาก และป้องกันน้ำเค็มเข้าพื้นที่เกษตรกรรมในฤดูแล้ง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำสู่ทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทย รวมทั้งก่อสร้างระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 19 แห่ง ขณะนี้ดำเนินการคืบหน้าไปกว่า 25%