สอน.เผยเตรียมหารือ 26 ม.ค.นี้ เพื่อเดินหน้าหาแนทางการลอยตัวน้ำตาลทราย หวังให้ทันเดือนตุลาคมนี้
นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้มอบหมายให้คณะกรรมการฯ ไปประเมินความเสี่ยงผลดีและผลเสียของการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายและการยกเลิกโควตาน้ำตาลทราย ซึ่งจะเสนอเพื่อเป็นแนวทางให้ชาวไร่โรงงานน้ำตาลทราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลกระทบ โดยจะมีการประชุมในวันที่ 26 ม.ค. 2560 อีกครั้ง
ทั้งนี้ เบื้องต้นที่ประชุมกำหนดแนวทางการลอยตัว 2 แนวทาง คือ การกำหนดเพดานราคาขั้นสูงและต่ำและแนวทางที่สองคือ การลอยตัวราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนฤดูการผลิต 2560/2561 คือช่วงเดือน ต.ค. 2560 ขณะเดียวกัน กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) จะต้องชำระหนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทให้หมดในช่วงเวลาเดียวกันด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตหากมีการลอยตัวราคาน้ำตาลเรียบร้อยแล้ว
“อย่างไรก็ตาม หากหนี้กองทุนอ้อยฯ ไม่สามารถชำระได้ทันก็อาจเลื่อนการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายออกไปเป็นไม่เกินเดือน เม.ย. 2561 เพราะหนี้กองทุนฯ จะหมดแล้ว แต่ยืนยันว่าขณะนี้เป็นจังหวะที่ดีในการลอยตัวเพราะจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกที่ปัจจุบันอยู่ที่ 23.50 บาทต่อ กก. เพราะราคาในตลาดโลกอยู่ที่ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ แต่หากล่าช้าออกไปจะมีความเสี่ยงจากการปรับตัวในราคาตลาดโลก” นายสมศักดิ์กล่าว
สำหรับการยกเลิกโควตามีการหารือกับบราซิลแล้ว บราซิลเห็นด้วยกับการยกเลิกโควตา แต่ต้องมีการสต็อกเพื่อลดความเสี่ยง (บัฟเฟอร์สต๊อก) แต่ยังต้องกำหนดปริมาณที่เหมาะสมว่าควรอยู่ที่เท่าใด แต่เบื้องต้นมองว่าควรอยู่ที่ 30 ล้านตัน ซึ่งเป็นการคำนวณจากปริมาณน้ำตาลโควตา ก. เพื่อบริโภคในประเทศ 2.6 ล้านตัน และส่วนหนึ่งของโควตา ค. ซึ่งเป็นส่วนการผลิตเพื่อส่งออก แต่กันไว้ใช้ในประเทศ 3-4 แสนตัน รวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านตัน