“อนันตพร” เผย กมธ.วิสามัญพิจารณา 2 พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เลื่อนเวลาพิจารณารอบที่ 5 กระทบแผนกรอบคัดเลือกผู้ชนะประมูลให้ล่าช้าออกไปเท่านั้น สั่งกรมเชื้อเพลิงเร่งจัดทำรายละเอียดร่างกฎหมายลูก 5 ฉบับรองรับไว้ก่อนเพื่อความพร้อมการเปิดประมูลแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ และบงกช
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้รับทราบเบื้องต้นว่า กมธ.วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ซึ่งมี พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน เตรียมเสนอที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขยายระยะเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ เป็นครั้งที่ 5 ออกไปอีก 30 วัน เสร็จสิ้นในวันที่ 19 ก.พ.นี้ จากเดิมจะเสร็จสิ้นวันที่ 21 ม.ค.นี้ โดยกระทรวงได้สั่งการให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เร่งจัดทำรายละเอียดร่างกฎหมายลูก 5 ฉบับรองรับไว้
“การออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมการประมูลแหล่งสัมปทาน 2 แหล่ง จากการประเมินในเบื้องต้น หากการดำเนินการออกประกาศเปิดประมูลมีความล่าช้า อาจจะทำให้กรอบการคัดเลือกผู้ชนะการประมูลที่จะเสร็จสิ้นในเดือน ก.ย.นี้ไม่เป็นไปตามแผนเดิม แต่คาดว่าจะเสร็จสิ้นได้ในปลายปีนี้ ดังนั้น กระทรวงพลังงาน จะรายงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมวันที่ 17 ก.พ.นี้ ให้รับทราบถึงความล่าช้าดังกล่าว” รมว.พลังงานกล่าว
ทั้งนี้ ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งที่จะหมดอายุทั้งเชฟรอน และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.) ได้สอบถามเพื่อขอรับทราบกรอบระยะเวลาการเปิดประมูลที่ชัดเจนซึ่งขอให้รอทาง สนช. อย่างไรก็ตาม ได้ยืนยันว่าหากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วจะเปิดประมูลให้เร็วที่สุด
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมฯ ได้เร่งจัดทำกฎหมายลูก 5 ฉบับ เพื่อรองรับร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดยกฎหมายลูกจะเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ โดยร่างกฎหมายลูกบางฉบับได้ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช่น หลักกกณฑ์การคัดเลือกแปลงปิโตรเลียมใดให้เหมาะสมกับการเปิดประมูลในรูปแบบใด ทั้งรูปแบบการให้สัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และระบบรับจ้างผลิต (เอสซี) ซึ่งจะดูทั้งปริมาณสำรองและรูปแบบที่จะจูงใจให้เอกชนยื่นประมูลแข่งขัน โดยหลักเกณฑ์นี้จะครอบคลุมทั้งเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุทั้ง 2 แหล่ง