xs
xsm
sm
md
lg

กิฟต์ชอปไทยเจาะ “ดิสนีย์” รุก “สวนสนุก-มิวเซียม” โลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ นายกสมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทย และของตกแต่งบ้าน [แฟ้มภาพ]
ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดโลกยอมรับดีไซน์-มาตรฐานการออกแบบและผลิต “กิฟต์ชอปไทย” หลังสวนสนุกระดับโลก “ดิสนีย์แลนด์” ทั่วโลกสั่งซื้อปีละ 1 หมื่นล้านบาท สมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทยฯ เร่งจับคู่ธุรกิจไทย-จีน-สิงคโปร์ เร่งผลิตให้ทันความต้องการ พร้อมเปิดตลาดพิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ สวนสนุกขนาดเล็ก และสถานที่ท่องเที่ยวทั่วโลก ก่อนผลักดันไทยเป็นฮับการค้าและออกแบบสินค้าที่ระลึกในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2563

นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ นายกสมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทย และของตกแต่งบ้าน เปิดเผยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมของขวัญและของชำร่วยไทย (Gift Shop) ถือว่ายังคงมีแนวโน้มสดใสและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักมาจากการดีไซน์และออกแบบที่ทันสมัยตรงกับความต้องการของตลาดโลก รวมถึงการผลิตที่มีมาตรฐานและคุณภาพจนได้รับเครื่องหมาย D Mark จากกระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย รวมถึง G Mark (Good Design Awards) ประเทศญี่ปุ่น จึงทำให้สวนสนุกระดับโลก “ดิสนีย์แลนด์” ทั่วโลกมีคำสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตไทยประมาณปีละ 1 หมื่นล้านบาท แต่ผู้ผลิตไทยยังคงมีศักยภาพการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยสามารถผลิตคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาท เพราะยังมีจำนวนเพียง 6 รายที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ โดยคาดว่าในปี 2560 จะสามารถเพิ่มเป็น 10 ราย

อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มของผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่จากประเทศจีนที่ได้รับการสั่งซื้อจาก “ดิสนีย์แลนด์” คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี เริ่มส่งสัญญาณการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เนื่องจากเริ่มมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ ปัญหาค่าแรงงาน รวมถึงปัญหาราคาสินค้าที่เริ่มสูงขึ้น ทำให้สมาคมฯ มีแนวทางส่งเสริมการค้า-การส่งออกโดยการจับคู่ค้าทางธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ผลิตและผู้ค้าของไทย จีน และสิงคโปร์ ซึ่งในอดีตถือเป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจระหว่างกัน

“แนวทางดังกล่าวจึงถือเป็นการเพิ่มมูลค่าการผลิตของผู้ประกอบการไทยให้เพียงพอกับความต้องการมากขึ้น โดยสมาคมฯ ยังมีแนวทางที่จะเปิดตลาดใหม่ๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของพิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ สวนสนุกขนาดเล็ก ตลอดจนสถานที่ต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการค้าและออกแบบสินค้าที่ระลึกในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2563”

สำหรับภาวะตลาดต่างประเทศของขวัญและของชำร่วยไทยปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2559 (ม.ค.-ก.ย. 59) ยังคงอยู่ในภาวะติดลบ -1.9% เนื่องจากปัจจัยภายนอกด้านต่างๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศ ราคาน้ำมัน และอื่นๆ แต่คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีจะพลิกกลับมาเติบโตได้ 2% ซึ่งถือว่าอยู่ในภาวะที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งมีการติดลบในระดับสองหลักจนถึงประมาณ -20%

“ปัจจุบันตลาดส่งออกหลักของไทยยังคงเป็น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งเริ่มให้ความนิยมสินค้าไทยสูงขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ส่งผลให้มีสัดส่วนขึ้นมาแทนที่กลุ่มประเทศยุโรป”

ส่วนภาวะในประเทศคาดว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่อยู่ในภาวะติดลบในระดับ -15% ติดต่อกันมา 2 ปี ส่งผลให้ตลาดมูลค่า 6.5 หมื่นล้านบาทลดลงเหลือเพียง 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น สินค้าประเภทกระเช้าของขวัญ (Personal Gifts) 3 หมื่นล้านบาท สินค้าที่ระลึกของหน่วยงานต่างๆ (Promotion Products) 1 หมื่นล้านบาท และสินค้าสำหรับเทศกาลต่างๆ (Seasonal Products) ประมาณ 8 พันล้านบาท - 1 หมื่นล้านบาท

อนึ่ง สมาคมฯ ยังร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และบริษัท เอ็น.ซี.ซี.เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) กำหนดจัดงานแสดงสินค้าของขวัญของแต่งบ้าน Thailand Bestbuys 2016 เพื่อเป็นการตอบรับมาตรการช้อปช่วยชาติและกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงปลายปี โดยกำหนดจัดระหว่างวันที่ 16-25 ธ.ค. 59 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยคาดจะมีผู้ร่วมชมงานประมาณ 2.2 แสนคน พร้อมสร้างรายได้ 250 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น