xs
xsm
sm
md
lg

“บีโอไอ” ฟื้นส่งเสริมกิจการผลิตอาหารสัตว์-ส่วนผสมอาหารสัตว์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บอร์ดบีโอไอ” ไฟเขียวเปิดให้การส่งเสริมกิจการผลิตอาหารสัตว์ หรือส่วนผสมอาหารสัตว์อีกครั้ง หวังสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการวิจัยพัฒนาและผลิตอาหารสัตว์ของภูมิภาค พร้อมเห็นชอบให้ปรับปรุงเงื่อนไขการส่งเสริมคลัสเตอร์อากาศยาน


นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่าที่ประชุมเห็นชอบเปิดให้การส่งเสริมกิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ โดยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1. หากมีเฉพาะขั้นตอนการผลิตจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษีตามประเภท B1 และกรณีที่ 2 หากมีการลงทุนด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ

“บีโอไอได้ยกเลิกการส่งเสริมลงทุนในประเภทกิจการผลิตอาหารสัตว์ไปเมื่อสิ้นปี 2557 เพื่อให้มีการกำหนดประเภทกิจการที่เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการดังกล่าวเป็นรูปแบบชั่วคราวเฉพาะกิจการที่ตั้งในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ปัจจุบันตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงในไทยเติบโตเพิ่มขึ้น 10% ต่อปีและเอกชนมีการลงทุนวิจัยและพัฒนามากขึ้น บีโอไอจึงเปิดให้ส่งเสริมฯอีกครั้งเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นแหล่งรองรับการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านอาหารสัตว์ ส่วนผสมอาหารสัตว์ และอาหารสัตว์เลี้ยงได้ในอนาคต” เลขาธิการบีโอไอกล่าว

ปรับเงื่อนไขส่งเสริมคลัสเตอร์อากาศยาน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาถึงเงื่อนไขในการส่งเสริมการลงทุนคลัสเตอร์อากาศยาน ซึ่งกำหนดไว้ว่า ต้องตั้งสถานประกอบการใน 14 จังหวัดที่มีสนามบินหรือใกล้เคียงสนามบิน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอากาศยานเป็นอุตสาหกรรมใหม่ การลงทุนเพื่อผลิตชิ้นส่วนหรือเครื่องมือเครื่องใช้ในอากาศยานยังมีจำนวนน้อยและยังไม่มีการกระจุกตัวในรูปแบบคลัสเตอร์ที่ชัดเจนเหมือนคลัสเตอร์ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนอากาศยานขนาดกลางและขนาดเล็กไม่มีความจำเป็นจะต้องไปตั้งโรงงานใกล้สนามบินก็สามารถส่งมอบชิ้นส่วนได้ แตกต่างจากการซ่อมอากาศยานหรือชิ้นส่วนที่จำเป็นต้องตั้งโรงงานใกล้สนามบิน นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยหลายรายกำลังพัฒนาการผลิตเพื่อให้สามารถรับช่วงการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมอากาศยานเติบโตได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น และเพิ่มโอกาสให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่ไม่ได้ตั้งโรงงานในพื้นที่ 14 จังหวัดที่มีสนามบิน ที่ประชุมจึงมีมติยกเลิกเงื่อนไขเรื่องที่ตั้งของกิจการในคลัสเตอร์อากาศยาน ซึ่งตามนโยบายเดิมกำหนดให้ต้องตั้งกิจการในพื้นที่ 14 จังหวัด
กำลังโหลดความคิดเห็น