xs
xsm
sm
md
lg

“กกร.” ชงรัฐปรับแผนจัดซื้อรถไฟฟ้าพัฒนาอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางในประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กกร.” เตรียมเสนอโรดแมปแผนพัฒนาอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางในประทเศต่อนายกฯ ในเวที กรอ.ที่คาดว่าจะมีการประชุมในช่วงปลาย ต.ค.หรือ พ.ย.นี้ กางข้อมูลเฉพาะปี 2562 จะมีความต้องการตู้รถไฟฟ้าสูงถึง 588 ตู้วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท หากใช้วิธีจัดซื้อแบบเดิมมีแต่ไทยต้องนำเข้าและอนาคตเสี่ยงอะไหล่ทดแทน เสนอให้เปลี่ยนจัดซื้อเป็นบิ๊กล็อตแล้วกำหนด 3 เงื่อนไขให้ประกอบในประเทศ ใช้ชิ้นส่วนในประเทศและถ่ายทอดเทคโนโลยี


แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่คาดว่าจะมีการประชุมช่วงปลายเดือน ต.ค. หรือ พ.ย.นี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะเสนอแผนที่นำทาง (Roadmap) การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทยเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจากการประเมินแผนการลงทุนของรัฐในปี 2562 จะมีการขยายการลงทุนรถไฟฟ้าระบบหลักเป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 248.54 กิโลเมตร (กม.) และคิดเป็นมูลค่าของปริมาณตู้รถไฟถึง 50,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐควรเปลี่ยนวิธีจัดซื้อด้วยการซื้อเป็นล็อตขนาดใหญ่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐกำหนดเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม และพัฒนาบุคลากรในไทยซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติมากกว่า

ทั้งนี้ แนวทางการจัดซื้อเป็นลอตขนาดใหญ่คือการทำให้การใช้ปริมาณหรือความต้องการเป็นการผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศด้วยการกำหนดเงื่อนไขที่สำคัญที่ประกอบด้วย 3 เงื่อนไข ได้แก่ 1. เงื่อนไขการประกอบในประเทศ 2. เงื่อนไขการใช้ Local contents และ 3. เงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งเงื่อนไขทั้งหมดเหล่านี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟในประเทศ ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านมาตรฐานทั้งชิ้นส่วน การผลิต การรับรองมาตรฐาน สถาบันระบบราง แล็บทดสอบ การวิจัยและพัฒนา

นอกจากนี้จะเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้น 3 ชุด ที่ประกอบด้วย 1. ชุดพัฒนาอุตสาหกรรมขนส่งทางรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง 2. ชุดพัฒนางานมาตรฐานระบบรางและการทดสอบ และ 3. ชุดจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ ซึ่งทั้งหมดจะต้องมีการทำงานเพื่อบูรณาการร่วมกันจากทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาบุคคลากรในแต่ละส่วนรองรับ

“การดำเนินงานจัดซื้อด้วยวิธีการแบบเดิมจะได้รถไฟหลากหลายโมเดล หลายยี่ห้อแม้ขั้นตอนจะสะดวก แต่จะไม่เอื้อให้เกิดอุตสาหกรรมในประเทศ ทำให้ไทยต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและทำให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องของอะไหล่ทดแทน และการนำเข้าเน้นการใช้งานแต่ไม่สามารถนำมาซึ่งการพัฒนาคนของไทยได้เลย ดังนั้น การใช้ปริมาณการใช้ (Volume) ที่ไทยต้องการรถไฟในอนาคตมาจัดซื้อล็อตใหญ่แล้วมีเงื่อนไขจะทำให้เรามีการพัฒนาบุคคลากรแล้วยังเป็นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมากกว่า” แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น