ผู้จัดการรายวัน 360 - เรือธง “คลับ ฟรายเดย์” ส่ง GMM 25 อยู่รอดด้วยแพกเกจขายโฆษณาแบบโปรเจกต์เบส ยึดฐานผู้ชม 15-34 ปี สร้างเรตราคาโฆษณาได้ถึงหลักแสนบาทต่อนาที มั่นใจสิ้นปีรายได้ทะลุ 800 ล้านบาท
นางสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม แชนเนล ดิจิตอล ทีวี บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง GMM 25 เปิดเผยว่า ตลอด 2 ปีของการออกอากาศช่อง GMM 25 ทั้งในแง่ของคอนเทนต์ ฐานผู้ชม และเรตติ้งดีขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเรตติ้งช่องดิจิตอลทีวีเดือน มิ.ย. 59 อยู่ในอันดับ 6 มีเรตติ้ง 0.202 รองจากช่องเวิร์คพ้อยท์ทีวี, โมโน 29, ช่องวัน, ช่อง 8 และช่อง 3SD ตามลำดับ โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีรายได้ 400 กว่าล้านบาท
ความสำเร็จมาจาก 2 ส่วน คือ 1.คอนเทนต์ซีรีส์/ละคร ด้วยการนำเสนอคอนเทนต์เหล่านี้จับกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุ 15-34 ปีเป็นหลัก ทั้งยังมีการชื่อมต่อกับโซเชียลออนไลน์ 2. แพกเกจโฆษณาในรูปแบบโปรเจกต์เบสที่ประกอบด้วย สปอตโฆษณา, ไทอิน, การสร้างแวลูให้สินค้า, สร้างกระแสผ่านโลกออนไลน์ เป็นต้น ซึ่ง 90% ลูกค้าในแบบโปรเจกต์เบส มีเพียง 5-10% ที่ซื้อเฉพาะสปอตโฆษณา
“คอนเทนต์ซีรีส์/ละครที่นำเสนอจะเล่นกับอีโมชันนัลเป็นกระแสในสังคม โดยมีพื้นฐานมาจากการต่อยอดจากรายการวิทยุ โดยเฉพาะคลับฟายเดย์เป็นส่วนสำคัญในการวางเป้าหมายของช่อง GMM25 กับกลุ่มเป้าหมายอายุ 15-34 ปีที่ทำให้เกิดการขายโฆษณาในรูปแบบโปรเจกต์เบสที่ไม่อิงค่า CPRP แต่อิงเรื่องการเข้าถึง เป็นกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์เป็นหลักจึงทำให้สามารถขยับเรตโฆษณาขึ้นมาเป็นหลักแสนบาทต่อนาทีได้ แต่หากยังใช้ค่า CPRP แล้ว ด้วยเรตติ้งที่อยู่ระดับ 0.2 เรตโฆษณาจะอยู่ที่หลักพัน-หมื่นบาทต่อนาทีเท่านั้น
ในช่วงครึ่งปีหลัง GMM 25 ยังนำเสนอซีรีส์/ละครต่อเนื่อง ทั้ง “คลับ ฟรายเดย์” ซีซัน 8-9, ละคร “โอเนกกะทีฟ” และซีรีส์ “เพลิงกฤษณา” อีก 2 เรื่องคือ “ปีกทอง” และ “ป่ากามเทพ” โดยแต่ละโปรเจกต์จะมีการขายโฆษณาแบบโปรเจกต์เบสล่วงหน้า
GMM25 ไม่เน้นการปรับผังรายการ เพราะหากปรับบ่อยจะทำให้ผู้ชมสับสนและจดจำได้ยาก แต่อาจปรับเล็กน้อย ส่วนละครสัดส่วน 35-40% มาจาก 3 ผู้ผลิตหลัก คือ 1. ทางช่องผลิตเองช่วง 20.00 น., บราโว ทีมมิวสิคของแกรมมี่ และ GDH ซึ่งช่วงเวลาที่บราโวดูแลจะเป็นเวลาหลัง 21.00 น.ซึ่งเดิมเป็นช่วงรายการคอนเสิร์ต โดยจะนำรายการดังกล่าวลงเวลาใหม่แทน ส่วนที่เหลือเป็นรายการข่าว 10-15% และวาไรตี้ 30-35%
นางสายทิพย์กล่าวต่อว่า สถานการณ์ทีวีดิจิตอลช่วงครึ่งปีหลังจะทรงตัว ไม่ดีขึ้น หรือแย่ลงไปกว่านี้ เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การแข่งขันจะมุ่งไปที่การทำให้ช่องอยู่รอดมากกว่าที่จะทุ่มงบลงทุนมากมายอย่างที่ผ่านมา ส่วน GMM 25 เป็นช่องที่อาจจะใช้งบลงทุนคอนเทนต์น้อยกว่าช่องอื่น ดังนั้น จากแผนที่วางไว้เชื่อว่าถึงสิ้นปีจะก้าวสู่ช่องท็อปไฟว์ของกลุ่มทีวีดิจิตอลได้ รวมทั้งเรตติ้งจะขยับขึ้นเป็น 0.5 เป็นอย่างน้อย พร้อมรายได้ 800 ล้านบาท เติบโตกว่าปีก่อน 100% จากที่ปิดรายได้ไปราว 400 ล้านบาท