กระทรวงอุตสาหกรรม มอบ “สศอ.” ศึกษานวัตกรรมยกระดับสินค้าแปรรูปเกษตร และกลุ่มทีใช้เทคโนโลยี หวังผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ สอดรับนโยบายรัฐและสอดรับกระแสโลก
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมภาคอุตสาหกรรม 5 ปี (พ.ศ. 2559-2563) ภายใต้งบประมาณ 9 ล้านบาท โดยมอบหมายสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นเจ้าภาพ นำร่อง 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแปรรูปเกษตร (Agro - based Industry) และกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยี (Engineering- based) เพื่อที่จะผลักดันให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพเนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตด้านการเกษตรที่จะรองรับได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้ตั้งงบประมาณอยู่ในวาระการปฏิรูปสู่การเป็น Thailand 4.0 วงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท สำหรับกลุ่มเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยมีหลายกระทรวงบูรณาการขับเคลื่อน เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพและผลิตภาพฯ การพัฒนาบุคลากรทั้งผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรปฏิบัติการ การพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมของอุตสาหกรรมอาหาร การเชื่อมโยงความต้องการของผู้ประกอบการไปสู่นักวิจัย การพัฒนาเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) การสร้างห้องปฏิบัติการเพิ่ม รวมทั้งการสนับสนุนเอาเทคโนโลยีขั้นสูงและระบบผลิตอัจฉริยะมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น
“ผลผลิตทางการเกษตรของไทย สามารถใช้นวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาต่อยอดอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio-based Industry) ได้แก่ พลังงานชีวภาพ เช่น ไบโอดีเซล เอทานอล และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สารสกัดจากธรรมชาติ รวมถึงต่อยอดไปสู่การผลิตในอุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอาง โดยอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ ที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริม” นางอรรชกากล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ เช่น ส่งออกได้เป็นอันดับ 1 ของโลก ข้าวและน้ำตาล เป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก ยางพาราส่งออกอันดับ 1 ของโลก ปาล์มน้ำมัน เป็นผู้ผลิตอันดับ 3 ของโลก แต่ก็ต้องสร้างจุดแข็งเพื่อการพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิตให้เกิดศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ Bio Hub และสร้างขนาดการผลิตที่คุ้มค่า (Economy of Scale) เพื่อให้ก้าวทันต่อตลาดโลกที่ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2563 คาดว่ามูลค่าตลาดพลาสติกชีวภาพจะเพิ่มขึ้นเป็น 560,000 ล้านบาท ซึ่งสหภาพยุโรปได้กำหนดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเป็น 20% สหรัฐอเมริกามีมาตรการบังคับให้ภาครัฐซื้อผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ส่วนอิตาลีเก็บเงินจากผู้ใช้ถุงพลาสติกทั่วไป 0.1-0.2 ยูโรต่อใบ เป็นต้น