xs
xsm
sm
md
lg

หน้าใหม่แห่หั่นราคาลงตลาด ชิงแชร์รองเท้าผ้าใบ 3 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายชัยพัชร์ ซอโสตถิกุล (ซ้าย) รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางอุตสาหกรรม จำกัด และ นายจักรพล จันทวิมล (ขวา) ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท  นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด
ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียนมูลค่า 3,000 ล้านบาท แข่งดุเดือดรับแบ็กทูสกูล คาดทั้งปีเติบโต 3% รายใหม่หลายแบรนด์แห่ร่วมทำตลาดหั่นราคา ส่วนแบรนด์หลักหันมามุ่งเน้นออกสินค้าใหม่และขยายฐานตลาดให้มากขึ้นดันยอดขาย

ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียนมูลค่า 3 พันล้านบาท แข่งดุเดือดรับ “แบ็ค ทู สคูล” คาดทั้งปีเติบโต 3% รายใหม่หลายแบรนด์แห่ร่วมทำตลาดหั่นราคา ส่วนแบรนด์หลักหันมามุ่งเน้นออกสินค้าใหม่และขยายฐานตลาดให้มากขึ้นดันยอดขาย

นายจักรพล จันทวิมล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรองเท้าผ้าใบแบรนด์ “นันยาง” เปิดเผยว่า ตลาดรองเท้านักเรียนในช่วงเปิดเทอมปี 2559 มีความคึกคักและมีการแข่งขันที่รุนแรงมากกว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยผู้บริโภคเริ่มซื้อสินค้าเร็วกว่าปีก่อนที่มักจะซื้อในช่วงใกล้เปิดเทอม แม้ว่าปีนี้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะยังไม่ค่อยดีก็ตามแต่รองเท้านักเรียนก็เป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่องไม่ได้ โดยมีอัตราการถือครองรองเท้าผ้าใบต่ำมากแค่ 1.3 คู่ต่อคนต่อปี

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรองเท้าหลายแบรนด์เข้าร่วมทำตลาดโดยรวมแล้วมากกว่า 15 แบรนด์ ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ของคนไทยเป็นหลัก แต่อาจจะเป็นการผลิตเอง หรือโออีเอ็ม หรือแม้แต่การนำเข้ามาจากต่างประเทศแล้วสร้างแบรนด์เอง โดยเน้นเรื่องราคาขายเป็นหลัก สังเกตได้จากในไฮเปอร์มาร์เก็ต บางแบรนด์ขายต่ำกว่าคู่ละ 100 บาทก็ยังมี อีกทั้งช่วงแบ็คทูสคูลและครึ่งปีแรกนี้ถือเป็นฤดูขายที่สำคัญที่มีสัดส่วนการขายมากกว่า 70% ของตลาดรองเท้า ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องแข่งกันเต็มที่

*** “นันยาง” ขยายฐานกลุ่มใหม่ ***
“ปีนี้คาดว่าตลาดรองเท้านักเรียนที่มีมูลค่ารวมกว่า 5 พันล้านบาท จะมีการเติบโตประมาณ 2-3% แยกเป็นรองเท้าผ้าใบ 60% หรือประมาณ 3 พันล้านบาท โดย นันยาง มีส่วนแบ่ง 40% เป็นผู้นำตลาด รองลงไปเป็นกลุ่มรองเท้าพีวีซีผู้หญิง สัดส่วน 35% และรองเท้าอื่นๆ 5% โดยกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของรองเท้านักเรียนมีจำนวนประชากรมากถึง 1 ใน 4 ของประชากรประเทศไทย หรือประมาณ 15 ล้านคน โดยสัดส่วนตลาดเป็นกรุงเทพฯ 25% และต่างจังหวัด 75%

ในส่วนของ “นันยาง” มีการออกสินค้าใหม่เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าจากเดิมที่มีเพียงรุ่นเบสิก 205 เอส พื้นเขียว เบอร์ 28-36 ราคา 305 บาทเท่าเดิม ล่าสุดออกใหม่คือ รองเท้าผ้าใบรุ่นบิ๊กฟุต เบอร์ 46-49 ราคา 355 บาท และรองเท้ารุ่นแฮฟฟันสำหรับเด็ก เบอร์ 28-33 ราคา 285 บาท ทำให้ “นันยาง” สามารถจับกลุ่มเป้าหมายกว้างขึ้น

“เมื่อเดือนที่แล้วยังได้เปิดตัวรองเท้าผ้าใบผู้หญิง ซูการ์ เบอร์ 35-41 ราคา 329 บาทซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้สินค้าขาดตลาด โดยจำหน่ายไปได้แล้ว 1 แสนกว่าคู่จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 3 แสนคู่ในปี 2559 โดยยังสามารถจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ผ่านทางเซ็นทรัลออนไลน์ได้กว่า 5 พันคู่”

ทั้งนี้ “นันยาง” ตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้ในแต่ละกลุ่มดังนี้ รุ่นเบสิก 70% รุ่นแฮฟฟัน 20% และรุ่นซูก้าร์ 10% (จากเดิมตั้งเป้าไว้ 5%) โดยในปี 2559 ใช้งบฯ การตลาดรวม 75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% คาดว่ารายได้รวมจะมีการเติบโตประมาณ 8% ขณะที่ปีที่แล้วมียอดขายรวมทรงตัว

สำหรับช่องทางการจำหน่ายของ “นันยาง” ยังคงมุ่งเน้นเทรดดิชันนัลเทรดกว่า 70% และโมเดิร์นเทรด 30% โดยมีเอเย่นต์ประมาณ 50 กว่ารายทั่วประเทศ มีหน่วยรถขายอีก 20 คัน มีหน่วยพิเศษอีก 10 หน่วย และผ่านห้างค้าปลีกอีก รวมแล้วมีเอาท์เล็ตมากกว่า 5 พันแห่ง

ด้าน นายชัยพัชร์ ซอโสตถิกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า ล่าสุดได้เพิ่มกำลังผลิตรองเท้านันยางจากโรงงานเดิมที่ ถ.เพชรเกษม โดยเพิ่มเครื่องจักรส่วนหนึ่งทำให้ปริมาณผลิตเป็น 5 หมื่นคู่ต่อวัน หรือเพิ่มประมาณ 30% จากเดิมที่ผลิตได้ประมาณ 4 หมื่นคู่ต่อวัน และเพิ่มเวลาทำงานการผลิตอีก 3 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้สามารถผลิตรองเท้าได้ตามความต้องการของตลาดในช่วงเปิดเทอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรองเท้าผ้าใบผู้หญิง “ซูก้าร์” โดยมั่นใจว่าจะสามารถรองรับความต้องการของตลาดได้
นายสมฤกษ์ วงศ์วีระนนท์ชัย กรรมการบริหาร บริษัท เอส.ซี.เอส สปอร์ตสแวร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าผ้าใบเบรกเกอร์
*** “เอส.ซี.เอส.” ขยายกลุ่มระดับบน ***
นายสมฤกษ์ วงศ์วีระนนท์ชัย กรรมการบริหาร บริษัท เอส.ซี.เอส สปอร์ตสแวร์ จำกัด ผู้ผลิตรองเท้านักเรียน “เบรกเกอร์”, “ป๊อปทีน” และ “แคทช่า” เปิดเผยว่า ตลาดรองเท้านักเรียนปัจจุบันแข่งขันรุนแรงด้านการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ โดยไม่เน้นแข่งขันด้านราคาเพราะราคาต่ำมากแล้ว อีกทั้งยังเป็นผลจากข้อกำหนดด้านราคาของ กระทรวงพาณิชย์ ด้วย โดยคาดว่าปีนี้ตลาดรวมจะเติบโตใกล้เคียงปกติที่ 3-5%

ขณะที่ภาพรวมของกำลังซื้อปีนี้คาดว่าจะฟื้นตัวจากปีที่แล้วบ้าง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและบรรยากาศทางการเมืองในประเทศค่อนข้างนิ่ง แต่ในช่วงไตรมาสแรกเริ่มมีสัญญาณบวกแล้ว โดยในส่วนของรองเท้านักเรียนเป็นสินค้าจำเป็นที่ต้องซื้ออยู่แล้ว โดยเฉพาะกับรองเท้าผ้าใบที่มีอายุการใช้งานค่อนข้างสั้น โดยเด็กอายุ 15-17 ปีจะซื้อใช้เป็นประจำที่ปีละ 2 คู่ ขณะที่คนทั่วไปยังคงซื้อเปลี่ยนตามอายุการใช้งานปีละประมาณ 1 คู่ตามเดิม ส่งผลให้ปีนี้บริษัทฯ หันมาเล่นในตลาดรองเท้าผ้าใบระดับสูง รวมทั้งการออกสินค้าใหม่และจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์โฆษณาผ่านสื่อ เน้นสร้างการรับรู้ แต่จะมีการทำโปรโมชั่นราคาระยะสั้น

ล่าสุดในช่วงแบ็คทูสคูล บริษัทฯ ได้ออกสินค้าใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีคือ รองเท้าผ้าใบ “เบรกเกอร์ ซูเปอร์ แบล็ก” และ “ซูเปอร์ไวท์” เพื่อกระตุ้นยอดขาย เพราะแบ็คทูสคูลเป็นช่วงขายที่มากกว่า 70% ของรายได้ทั้งปี สำหรับราคาสินค้ารุ่นใหม่นี้สูงที่สุดในตลาดรองเท้าผ้าใบที่ 395 บาท จากรุ่นทั่วไปที่ราคาประมาณ 300 บาท จับกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นผู้ชาย อายุ 15 ปีขึ้นไป ดีไซน์ทันสมัย ครอบคลุมการใช้งานได้มากกว่าแค่ใส่ไปโรงเรียน ซึ่งก่อนออกรองเท้ารุ่นใหม่นี้ บริษัทฯได้ใช้งบประมาณการวิจัยและพัฒนากว่า 4 ล้านบาทถึงการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ในปีนี้ทางบริษัทฯ ได้เตรียมทุ่มงบการตลาดกว่า 30 ล้านบาท ยังได้เตรียมจัดกิจกรรมทางการตลาดอีกมากมาย อาทิ กิจกรรมเพื่อส่งเสริมการใช้เวลาว่างของวัยรุ่นคือกิจกรรม"เบรกเกอร์บอย ขาสั้น... มันส์ให้สุด" ซึ่งงานนี้ได้เจ้าพ่อแร็ปเปอร์มือหนึ่งของเมืองไทย โจอี้ บอย มาเป็นแม่ทัพนำทีมเด็กเบรกเกอร์บอยทั้ง 10 คนจากหลายสถาบันชื่อดังระดับประเทศมาทำกิจกรรมดีๆเพื่อสังคมร่วมกัน เช่น เข้าร่วมโครงการปลูกป่าที่ จ.น่าน และกิจกรรมการสร้างความสุขให้กับน้องๆ ที่ด้อยโอกาสทางสังคม ทั้งนี้มีแนวทางในการจำหน่าย 3 ช่องทาง คือ ผ่านทางห้างสรรพสินค้า 25%, ดีลเลอร์ 55% ช่องทางออนไลน์ 18% และอื่นๆ 2%

นายสมฤกษ์กล่าวด้วยว่า ตลาดรองเท้าผ้าใบเป็นตลาดใหญ่กว่า 60-70% ของตลาดรองเท้านักเรียนมูลค่า 5.5 พันล้านบาท เติบโต 10% ต่อเนื่องสูงกว่าตลาดรองเท้านักเรียนผู้หญิงที่เติบโตเพียง 3-5% จึงทำให้บริษัทฯ ออกรองเท้าผ้าใบรุ่นใหม่มาทำตลาด บริษัทฯ จึงมีเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดรองเท้าผ้าใบเป็น 35% จากเดิม 30% และเป็นที่สองในตลาดรองเท้าผ้าใบรองจาก “นันยาง” โดยคาดว่าจะสามารถทำยอดขายรองเท้าผ้าใบรุ่นใหม่ได้ 1.5 แสนคู่ในช่วงแบ็คทูสคูลนี้ หรือรวม 2 แสนคู่ภายในสิ้นปี
กำลังโหลดความคิดเห็น