ผู้จัดการรายวัน 360 - มูลค่าธุรกิจริมฝั่งเจ้าพระยาทะลุ 1 แสนล้านบาทต่อปี แนะพัฒนาระบบคมนาคมเชื่อมโยงการเดินทางทางบกและทางน้ำให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกมากขึ้น ด้าน “เรือด่วน ธงฟ้า” เตรียมโปรเจกต์ยักษ์หวังดึงดูดคนไทยใช้บริการเพิ่ม ฟาก “เจ้าพระยาครุยส์” เผยไลฟ์สไตล์คนไทยเริ่มนิยมท่องเที่ยวแม่น้ำเจ้าพระยาและใช้บริการเรือภัตตาคารมากขึ้น
นายธนัทชาติ บุญประกอบ อุปนายกด้านกิจกรรมและสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดเผยว่า จากการเติบโตของโครงการต่างๆ บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ช่วงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าถึงสะพานพระรามเก้า โดยเฉพาะโรงแรม คอมมูนิตี้มอลล์ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร รวมถึงเรือภัตตาคารในแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชนต่างๆ ที่ตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ธุรกิจริมฝั่งและในแม่น้ำเจ้าพระยามีมูลค่าสูงราว 1 แสนล้านบาทต่อปี
หลังจากนี้โครงการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นคงเป็นไปได้ยากเพราะแทบไม่มีพื้นที่ว่างอีกแล้ว เหลือแต่เพียงแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัยมายาวนานเท่านั้น การพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจึงควรเน้นเรื่องการคมนาคมที่สามารถเชื่อมโยงการเดินทางทางบกและทางน้ำ เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวมากขึ้น
นายธนัทชาติกล่าวด้วยว่า ในส่วนของสมาคมฯ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการโรงแรม เรือภัตตาคาร ศูนย์การค้า และอื่นๆ เป็นสมาชิกจำนวน 32 ราย โดยขณะนี้กำลังมีแผนเพิ่มรายได้จากอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยการขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” ในการใช้พื้นที่โรงแรมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 12 แห่งเป็นพื้นที่จัดงานต่างๆ
*** “เรือด่วน ธงฟ้า” ลงทุน 140 ล้านต่อเรือใหม่-รีโนเวตเรือเก่า ***
นายพิริยะ วัชจิตพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ้าพระยาทัวร์ริสท์โบ๊ท จำกัด ผู้ให้บริการเรือโดยสารท่องเที่ยวสาธารณะ “เรือด่วนเจ้าพระยา ธงฟ้า” กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีเรือโดยสารขนาด 120 ที่นั่งให้บริการ 14 ลำต่อวัน มีนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้บริการ 80% และคนไทย 20% โดยในปี 2558 มีผู้ใช้บริการทั้งสิ้นประมาณ 4 พันคน เติบโตขึ้น 5% ส่วนในปี 2559 มีแผนพัฒนาตั๋วโดยสารเติมเงินในรูปแบบสมาร์ทการ์ดเพื่อเชื่อมโยงกับการใช้บริการขนส่งสาธารณะต่างๆ เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส และอื่นๆ พร้อมคิดค่าโดยสารต่ำกว่าปกติจาก 40 บาท เหลือ 30 บาท เพื่อดึงดูดคนไทยให้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น
นายพิริยะกล่าวด้วยว่า ในปี 2558 บริษัทฯ มีแผนใช้งบฯ ลงทุน 140 ล้านบาทในการปรับปรุงคุณภาพเรือจำนวน 6 ลำด้วยงบประมาณลำละ 10 ล้านบาท พร้อมกันนั้นยังจะต่อเรือ Catamaran ซึ่งเป็นเรือท่องเที่ยวประเภทกราบคู่ ความเร็วสูง คลื่นต่ำ ขนาด 200 ที่นั่ง จำนวน 2 ลำ ด้วยงบประมาณลำละ 40 ล้านบาท เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เช่น กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงจากปกติที่ต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมง
*** “เจ้าพระยาครุยส์” ปรับแผนดึงนักท่องเที่ยวไทย ***
ด้าน น.ส.ภูวดี คุนผลิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ้าพระยาครุยส์ จำกัด ผู้ให้บริการเรือภัตตาคาร “เจ้าพระยาครุยส์” เปิดเผยว่า ภาพรวมของธุรกิจเรือภัตตาคารทั้งขนาดเล็กถึงใหญ่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีคนไทยมาใช้บริการมากขึ้นถึง 30-40% จากเดิมที่มีเพียง 10% เพราะเริ่มมีไลฟ์สไตล์การรับประทานอาหารนอกบ้านที่เปลี่ยนเป็นการสัมผัสบรรยากาศการท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน
ในส่วนของ “เจ้าพระยาครุยส์” ถือเป็นเรือภัตตาคารขนาดใหญ่จำนวน 200-450 ที่นั่ง มีเรือให้บริการจำนวน 2 ลำ เน้นกลุ่มเป้าหมายระดับบน โดยเริ่มมีการปรับแผนการตลาดนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มมากขึ้นเมื่อปี 2546 หลังจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปเป็นจำนวนมาก จนปัจจุบันมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวไทย 30% ต่างชาติ 70% ส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชีย เช่น จีน พม่า เวียดนาม ญี่ปุ่น ฮ่องกง รวมไปถึงชาวยุโรป และสหรัฐอเมริกา
“เรือเจ้าพระยาครุยส์ถือว่ามีจุดเด่นในเรื่องบริการและอาหารไทยประยุกต์จึงทำให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง โดยปัจจุบันเน้นทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ทั้งยังมีการจัดโปรโมชันให้ลูกค้าเป็นประจำทุกเดือน ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยที่ใช้บริการมีทั้งในลักษณะมาเป็นคู่รัก ครอบครัว รวมไปถึงองค์กร โดยมีรูปแบบการใช้บริการทั้งแบบส่วนตัว การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ สัมมนา รวมไปถึงการจัดพิธีมงคลสมรส และอื่นๆ ซึ่งเจ้าพระยาครุยส์ถือว่ามีจุดเด่นในเรื่องโครงสร้างที่โอ่โถงสามารถเคลื่อนย้ายโต๊ะและเก้าอี้ให้เป็นพื้นที่โล่งเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานแก่ลูกค้าได้อย่างเต็มที่” น.ส.ภูวดีกล่าวในตอนท้าย