xs
xsm
sm
md
lg

เผย 5 รายชื่อคนในยื่นสมัครชิงดำผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เผย 5 รายชื่อยื่นสมัครเข้าชิงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่แล้ว พบเป็นคนใน กฟผ.ทั้งหมด ประธาน สร.กฟผ.ส่งสัญญาณอย่ามีแนวคิดแยกกิจการระบบส่งและศูนย์ควบคุมออกจาก กฟผ.


นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ กฟผ.ได้เปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ แทนนายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 12 มิ.ย. 59 โดยได้เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.-5 เม.ย. พบว่ามีผู้สมัครทั้งหมด 5 คนซึ่งเป็นคนใน กฟผ.ทั้งหมดไม่มีคนนอกแต่อย่างใด

สำหรับผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ทั้ง 5 คน ประกอบด้วย ได้แก่ 1. นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม และโฆษก กฟผ. 2. นายสืบพงษ์ บูรณศิรินทร์ รองผู้ว่าการบริหาร 3. นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน 4. นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า และ 5. นายถาวร งามกนกวรรณ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ ขั้นตอนหลังจากนี้จะมีการพิจารณาคุณสมบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขและระเบียบที่กำหนดไว้ เช่น มีความรู้ในการบริหารธุรกิจ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์การคลัง หรือกฎหมายและประสบการณ์ในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ โดยกรณีที่เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารเอกชน ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับรองผู้บริหารสูงสุดขององค์กรที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี โดยมีงบการเงินและโครงสร้างองค์กร หรือรายงานประจำปี ในขณะที่ดำรงตำแหน่งมาแสดงด้วย และหลังจากนั้นจะกำหนดให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ในวันที่ 25 เม.ย.นี้ โดยจะให้เวลาการแสดงวิสัยทัศน์ท่านละ 20 นาที

“หลังจากมีการแสดงวิสัยทัศน์แล้วคณะกรรมการก็จะพิจารณาและให้คะแนน และหากคะแนนห่างกันมากจะพยายามเสนอรายชื่อเดียวแต่หากคะแนนใกล้เคียงกันก็อาจจะเสนอลำดับไปให้บอร์ด กฟผ.พิจารณา ซึ่งคาดว่าบอร์ด กฟผ.น่าจะพิจารณาได้ภายใน พ.ค.เป็นอย่างเร็ว แต่ทั้งหมดจะต้องทันผู้ว่าฯ กฟผ.คนเก่าหมดวาระคือ 12 มิ.ย. 59” นายวิฑูรย์กล่าว

นายประกอบ ปริมล ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. (สร.กฟผ.) กล่าวว่า การที่ผู้สมัครเข้าชิงผู้ว่าฯ กฟผ.เป็นคนในทั้งหมดนับเป็นสิ่งที่ทาง สร.กฟผ.เองก็เคยระบุไว้แล้ว เพราะคนในเท่านั้นที่จะบริหาร กฟผ.เพราะต้องอาศัยประสบกาณณ์อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันผู้ว่าฯ คนใหม่จะเป็นใครก็ได้ที่เป็นคน กฟผ. หากแต่สิ่งสำคัญจะต้องไม่มีแนวความคิดในการแยกกิจการสายส่งและศูนย์ควบคุมระบบโครงข่ายไฟฟ้าออกจาก กฟผ. เพราะนั่นหมายถึงกำลังคิดที่จะนำไปสู่การแปรรูปเช่นที่เคยจะมีการผลักดัน

“เราเองได้ทำหนังสือคัดค้านมาตลอดโดยเฉพาะแนวคิดในการแยกระบบส่งและศูนย์ควบคุมไฟฟ้าออกมาจาก กฟผ.ซึ่งเสนอโดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยอ้างเหตุผลการซื้อขายไฟฟ้าเสรี ซึ่งเราเองเห็นด้วยกับการปฏิรูปพลังงาน แต่แนวทางนี้ก็คือการแปรรูปรูปแบบใหม่ที่สุดก็เปิดให้กลุ่มทุนพลังงานเข้ามาเอาผลประโยชน์” นายประกอบกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น