xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เชิญทูต-กงสุล-นักธุรกิจร่วมงานโปรโมตเขตเศรษฐกิจพิเศษดึงลงทุนเดือน ก.พ. 59

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รัฐบาลได้กำหนดให้มี “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตลอดแนวชายแดนประเทศไทย” จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ 1. ด้านพม่า ประกอบด้วย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก เชียงราย และกาญจนบุรี 2. ด้านกัมพูชา ประกอบด้วย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว และตราด 3. ด้าน สปป.ลาว ประกอบด้วย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร หนองคาย และนครพนม และ 4. ด้านมาเลเซีย ประกอบด้วย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา และนราธิวาส โดยครอบคลุมพื้นที่กว่า 5,656 กิโลเมตร

โดยในปัจจุบันรัฐบาลได้มีการกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแล้ว ประกอบด้วย 13 ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร ประมง และกิจการที่เกี่ยวข้อง, การผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิก, อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง, การผลิตเครื่องเรือน, อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ, การผลิตเครื่องมือแพทย์, อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร และชิ้นส่วน, อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์, การผลิตพลาสติก, การผลิตยา, กิจการลอจิสติกส์, นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม และกิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว

ขณะเดียวกัน ได้มีการกำหนดสิทธิพิเศษในด้านต่างๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนออกมาแล้ว ทั้งสิทธิประโยชน์ด้านภาษี การนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ การลดหย่อนค่าสาธารณูปโภค การใช้แรงงานต่างด้าว และยังมีมาตรการสนับสนุนเป็นพิเศษให้แก่อุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ด้วย

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ได้รับการมอบหมายจากรัฐบาลให้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยเป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์และการตลาดของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศให้มีการเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ แผนที่จะดำเนินการโปรโมตเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในเดือน ก.พ .2559 กรมฯ จะเชิญเอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ ของประเทศต่างๆ ที่ประจำอยู่ในไทย หอการค้าต่างประเทศ และนักธุรกิจต่างชาติที่ลงทุนในไทยให้เข้ามาร่วมงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในการจัดทำเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลว่ามีอยู่ตรงจุดไหนบ้าง มีสิทธิพิเศษอะไร และอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ลงทุนมีอะไร เพื่อให้ได้รับรู้ และนำไปแจ้งแก่นักลงทุนในประเทศของตัวเองให้เข้ามาลงทุนต่อไป

“ตั้งเป้าว่าจะเปิดตัวเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลที่กำหนดไว้แล้ว 10 เขต 10 จังหวัดว่าอยู่ตรงจุดไหนบ้าง เพราะมีทั้งที่เชื่อมโยงกับเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย โดยจะมีการแจ้งความคืบหน้าในแต่ละพื้นที่ และหากนักลงทุนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ไหน กรมฯ ก็พร้อมที่จะจัดทริปในลักษณะวันเดย์ ทริป เพื่อพาไปดูพื้นที่จริง โดยให้แจ้งความประสงค์เข้ามาก็จะดำเนินการให้” นายอดุลย์กล่าว

สำหรับการประชาสัมพันธ์เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษด้านอื่นๆ นายอดุลย์กล่าวว่า กรมฯ กำลังดำเนินการจัดทำคู่มือการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยเป็นความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยจะมีรายละเอียดว่าจังหวัดที่เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษครอบคลุมพื้นที่ใดบ้าง มีอุตสาหกรรมเป้าหมายอะไร อัตราค่าเช่าพื้นที่ สิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ภาษี ยกเว้นอากรเครื่องจักร วัตถุดิบ การใช้แรงงานต่างด้าว เป็นต้น มีรายละเอียดอย่างไร

“เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ก็จะแจกจ่ายให้แก่นักลงทุนที่สนใจ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลและศึกษา เพื่อใช้ในการวางแผนเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนนักลงทุนในต่างประเทศ กรมฯ ได้ขอความร่วมมือให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการประชาสัมพันธ์ให้แก่นักลงทุนที่สนใจ เพื่อให้ได้รับรู้ว่ารัฐบาลกำลังมีนโยบายในการส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และหากสนใจจะเข้ามาลงทุน จะต้องดำเนินการอย่างไร วิธีการไหน” นายอดุลย์กล่าว

นายอดุลย์กล่าวว่า กรมฯ จะทำการโปรโมตเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะทำการเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดการประสานด้านการลงทุนร่วมกัน โดยใช้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพราะบางอุตสาหกรรม ไทยอาจจะส่งเสริมให้ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อใช้ประโยชน์ด้านวัตถุดิบ แรงงาน และสิทธิพิเศษที่ประเทศเพื่อนบ้านได้รับจากต่างประเทศ แต่หากเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในเป้าหมายส่งเสริมของรัฐบาล ก็จะดึงดูดให้มาลงทุนในไทย

ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ขัดขวางการพัฒนาของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กรมฯ จะจัดคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนลงพื้นที่ไปยังจังหวัดที่เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีเป้าหมายไปที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน สระแก้ว มุกดาหาร กาญจนบุรี อุบลราชธานี และตาก เพื่อไปดูพื้นที่จริง ดูปัญหา และอุปสรรคในพื้นที่ และจะประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นลักษณะเดียวกันกับที่ได้นำคณะลงพื้นที่ด่านสะเดา และสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคติดขัดต่างๆ ลงได้

“รูปแบบการทำงานจะใช้สะเดาโมเดล ที่สามารถผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาอุปสรรค ทั้งในเรื่องของการขนส่ง การคมนาคม การผลักดันเรื่องการเปิดด่านตลอด 24 ชั่วโมง และการเปิดดิวตี้ ฟรี ซึ่งขณะนี้ทุกเรื่องมีความคืบหน้า เพราะตอนลงพื้นที่ กรมฯ เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปด้วย ไปถึงก็หารือแก้ไขปัญหากันเลย อะไรทำได้ก็ทำทันที แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อ ก็จะส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไป หรือหากต้องตัดสินใจในระดับรัฐบาลก็เสนอรัฐบาลให้ดำเนินการ ซึ่งจะนำโมเดลนี้มาใช้กับการลงพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ต่อไป” นายอดุลย์กล่าว

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะลงพื้นที่ไปยังจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยจะมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างและชี้โอกาสให้กับนักธุรกิจในใช้ประโยชน์จากเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในการขยายการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจะร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการจัดมหกรรมการค้าชายแดน การหารือร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในพื้นที่ รวมถึงการหาทางเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
กำลังโหลดความคิดเห็น