xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” ให้เชื่อมือคลัง-ธปท.ย้ำเฟดขึ้นดอกเบี้ยไทยเอาอยู่!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สมคิด” ลั่นเฟดขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบไทยโดยตรง ให้เชื่อมือคลังและ ธปท.เอาอยู่! ขณะที่ ส.อ.ท.แนะไทยควรคงดอกเบี้ยไปก่อนไม่ต้องเร่งปรับตามสหรัฐฯ ทันทีจนกว่าจีดีพีจะโต 4%

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา 0.25% ไม่น่าจะมีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยมากนัก เพราะสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณมาอย่างต่อเนื่อง แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินของประเทศเกิดใหม่ อาทิ บราซิล รวมถึงความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ซึ่งไทย ได้เตรียมพร้อมปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่โดยเน้นการเติบโตภายในประเทศที่มุ่งสู่สมดุล ซึ่งมีความพร้อมที่จะรับมือกับความผันผวนจากภายนอกประเทศ และขอให้เชื่อมั่นการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กรณีที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 0.25-0.50% ไม่เหนือความคาดหมายที่ตลาดคาด และไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทของไทยมากนักเพราะนักลงทุนต่างรู้กระแสมาระยะหนึ่งแล้ว และกรณีที่อาจทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้นทางที่ดีก็อาจทำให้นักลงทุนที่เข้ามาในไทยได้ประโยชน์จากต้นทุนการเงินที่ถูกลง ซึ่งส่วนตัวเห็นว่ายังไม่จำเป็นที่อัตราดอกเบี้ยของไทยจะต้องปรับขึ้นตามสหรัฐฯ เพราะเศรษฐกิจไทยยังต้องการการกระตุ้นจากนโยบายการเงินและการคลัง ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยของไทยจึงไม่ควรปรับขึ้นจากระดับปัจจุบันที่อยู่ระดับ 1.25% จนกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะขยายตัวได้ 4%

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยเป็นข่าวดี แสดงว่าเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งขึ้น โดยปี 2559 หลายฝ่ายมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสขยายตัวสูงขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและไทยไปด้วย และประเมินว่าเฟดจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปี 2559 ให้ขึ้นอยู่ระดับ 0.75% ซึ่งสัญญาณนี้อาจส่งผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น ในแง่เงินดุลดอลลาร์สหรัฐที่ไหลกลับไปลงทุนในประเทศสกุลเงินหลักส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัว แต่คงไม่มากเพราะตลาดรับรู้มาแล้วก่อนหน้านี้ อีกทั้งปริมาณเงินสกุลต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนไทยยังไม่เท่ากับประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย เกาหลี จึงไม่มีความน่าเป็นห่วงว่าจะมีเงินไหลออกไปจนกระทบต่อตลาดเงินของไทยรุนแรง
กำลังโหลดความคิดเห็น