ส.อ.ท.จับมือ ม.ศรีปทุมเผยผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการปี 58/59 พนักงานเตรียมลุ้นรับโบนัสเฉลี่ยจ่าย 2.3 เดือน โดยแนวโน้มการจ่ายโบนัสจะผันแปรกับผลงานเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ย 7 ปี (ปี 52-58) วุฒิ ปวช.ได้รับการปรับเงินเดือนสูงสุด ทิศทางจ้างงานปี 59 ไม่ต่างจากปีนี้ต้องลุ้น ศก.โลกเป็นสำคัญ
นายพงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ รองประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถาบันฯ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดสัมมนารายงานการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 2558/59 พบว่าค่าเฉลี่ยการปรับค่าจ้างปี 2558 อยู่ที่ 5.04% การจ่ายโบนัสประจำปีเฉลี่ยอยู่ที่ 2.3 เดือน ซึ่งพบว่าการจ่ายโบนัสมีการพิจารณาจากผลงานมากสุดคิดเป็น 48% คิดตามผลงานและอายุทำงาน 28% และจ่ายเท่ากัน 19% สำหรับการปรับค่าจ้างในปี 2559 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีนี้ และแรงงานที่ผู้ประกอบการต้องการยังคงเป็นสาขาที่เน้นด้านทักษะฝีมือแรงงาน
“โบนัสปีนี้ก็มีค่าเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่สูงสุดพบว่าจะมีการจ่าย 7.5 เดือนในบางกิจการที่มีกำไรค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่น่าสังเกตุคือว่าการจ่ายโบนัสช่วงหลังเริ่มผันแปรตามคุณภาพ และผลงานมากขึ้น” นายพงษ์เดช กล่าว
นอกจากนี้ เมื่อเทียบปี 2558 กับปี 2557 พบว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างเฉลี่ย วุฒิปริญญาตรี เพิ่มขึ้นสูงสุด 9.49% รองลงมา ได้แก่ วุฒิ ปวส. 8.66% วุฒิ ปวช. 6.69% และวุฒิปริญญาโท 3.16% ตามลำดับ แต่เมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างเฉลี่ยตลอดช่วงระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ ปี 2552 จนถึงปี 2558 พบว่า วุฒิ ปวช. เพิ่มขึ้นสูงสุด 57.85% (ในปี 2552 ค่าจ้างเฉลี่ย 6,411 บาท และในปี 2558 ค่าจ้างเฉลี่ย 10,120 บาท) รองลงมา ได้แก่ วุฒิ ปวส. 53.32% (ในปี 2552 ค่าจ้างเฉลี่ย 7,425 บาท และในปี 2558 ค่าจ้างเฉลี่ย 11,384 บาท) วุฒิปริญญาตรี 41.59% (ในปี 2552) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าค่าจ้างระดับ ปวช.และ ปวส.มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“ทิศทางประเทศทั่วโลกก็จะเน้นการจ้างงานที่เป็นแรงงานด้านทักษะฝีมือมากขึ้นอยู่แล้ว และจากตัวเลขนี้ทาง ส.อ.ท.เองจึงพยายามที่จะสนับสนุนให้ระบบการศึกษาของไทยมีการปรับการเรียนการสอนที่เน้นด้าน ปวช.และ ปวส.มากขึ้น” นายพงษ์เดช กล่าว
นายประพันธ์ ชัยกิจอุราใจ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า ผลสำรวจการจ้างงาน ปี 2558 พบว่า มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 5% ในกลุ่มผู้ไม่มีประสบการณ์การทำงาน ขณะที่ระดับการศึกษาปริญญาตรี มีอัตราการจ้างงานสูงกว่า 10% โดยเฉพาะสาขาวิชาเภสัชกร เนื่องจากกำลังซื้อยาประเภทต่างๆ ทั้งที่ผลิตในประเทศไทย และต่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งยังเป็นสาขาวิชาที่มีการเคลื่อนย้ายของแรงงานไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนสูงที่สุดในปีนี้ด้วย
“หากเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา กลับพบว่าวุฒิ ปวช. มีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ร้อยละ 57.85 หรือประมาณ 3,709 บาท สำหรับการจ่ายโบนัสประจำปี 2558 คาดการณ์ไว้ที่เฉลี่ย 2.34 เดือน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา ก็สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มฟื้นตัว ส่วนอัตราการจ้างงาน ปี 2559 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีนี้ แต่มีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น หากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา จีน และตะวันออกกลางมีทิศทางดีขึ้น” นายประพันธ์ กล่าว