บีโอไอเผยผลการเดินทางไปชักจูงการลงทุนในประเทศญี่ปุ่น เน้นการชักจูงแบบรายบริษัทเป้าหมาย มั่นใจจะสามารถดึงดูดให้บริษัทชั้นนำในเมืองคาวาซากิลงทุนด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักร และการวิจัยพัฒนา รวมทั้งชักชวนให้ผู้ผลิตเครื่องจักรชั้นนำของญี่ปุ่นตัดสินใจตั้งศูนย์เทคนิคอลเซ็นเตอร์ในไทย พร้อมผนึกกำลังหน่วยงานภาครัฐ บุกกล่อมนักลงทุนญี่ปุ่นตั้งกิจการ ITC & IHQ
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 22-24 กรกฎาคมที่ผ่านมา บีโอไอได้เดินทางไปชักจูงการลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่น โดยได้เข้าพบปะหารือกับนักลงทุนชั้นนำที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของบีโอไอ ได้แก่ การพบปะหารือกับนายกเทศมนตรีเมืองคาวาซากิ และประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมเมืองคาวาซากิ ซึ่งได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักร และการวิจัยพัฒนาในประเทศไทย รวมทั้งได้ประสานความร่วมมือในการสนับสนุนให้นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพเข้าไปลงทุนในเมืองคาวาซากิ โดยบีโอไอจะประสานงานกับ One Stop Service Center ของเมืองคาวาซากิในการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนไทย และเมืองคาวาซากิจะพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนไทยเข้าไปดำเนินกิจการได้ง่ายยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ บีโอไอยังได้พบปะหารือกับบริษัท อะมะดะ (Amada Co., Ltd.) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรชั้นนำของญี่ปุ่น และได้ดำเนินกิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุนในไทยอยู่แล้ว และได้ตัดสินใจขยายการลงทุนตั้งศูนย์เทคนิคอลเซ็นเตอร์แห่งใหม่ในประเทศไทย มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2559 เพื่อเป็นศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตเครื่องจักรและฝึกอบรมบุคลากร และนำไปสู่การเข้ามาลงทุนผลิตเครื่องจักรและตั้งกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศในไทยต่อไป
นอกจากนี้ บีโอไอยังได้ร่วมกับ กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมการจัดหางาน จัดงานสัมมนาเพื่อชักชวนให้บริษัทญี่ปุ่นทั้งภาคการผลิตและภาคบริการใน 3 เมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงโตเกียว นครโอซากา และเมืองนาโกยา ตัดสินใจเข้ามาตั้งกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Centers : ITC) และกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters : IHQ) ในประเทศไทย โดยงานสัมมนาทั้งสามครั้งได้รับความสนใจจากนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากเกือบ 700 ราย
“งานสัมมนาทั้งสามครั้งที่จัดขึ้นในญี่ปุ่นได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุน ITC & IHQ มาร่วมนำเสนอข้อมูลและร่วมตอบคำถามและอธิบายข้อสงสัยต่างๆ แบบบูรณาการ รวมทั้งจัดให้มีบริการให้คำปรึกษาแบบรายบริษัท ซึ่งมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าร่วมพบปะพูดคุยกว่า 50 ราย และหลายรายมีแผนที่จะยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนอย่างจริงจัง” เลขาธิการบีโอไอกล่าว